นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7 ส.ค.67) ที่ระดับ 35.49 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.53 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.45-35.60 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.60 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักกว่าคาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทได้เริ่มชะลอลง หลังบรรยากาศตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ได้กดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ทว่า เงินบาทก็ไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนัก เนื่องจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงดังกล่าว ที่มาพร้อมกับการทยอยปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สู่ระดับ 3.90% ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเข้าใกล้โซน 2,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่า ทำให้โดยรวมเงินบาทยังคงแกว่งตัวแถวโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์
บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยกลับเข้าซื้อบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่ปรับตัวลดลงหนักในช่วงก่อนหน้า อาทิ Meta +3.9%, Nvidia +3.8% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น +1.03% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.04%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.29% ตามการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด โดยผู้เล่นในตลาดได้กลับเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวลดลงหนักในช่วงก่อนหน้า นำโดย ASML +4.6% นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปในช่วงนี้ก็ยังคงออกมาสดใส ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง
ในส่วนตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และการทยอยปรับมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนแตะระดับ 3.90% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ได้ประเมินไว้ในวันก่อนว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสที่จะทยอยกลับขึ้นไปทดสอบโซน 4.00% ได้อีกครั้ง หากผู้เล่นในตลาดทยอยกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง -50bps ในการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งอาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดบ้าง หรือ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่อาจย้ำมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้มีแนวโน้มชะลอตัวลงหนัก หรือ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เฟดก็อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้บ้าง ตามพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงตามคาด และภาพตลาดแรงงานที่ชะลอลงมากขึ้น โดยเรามองว่า ควรรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์หน้าที่อาจจะเห็นการส่งสัญญาณดังกล่าว
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 103 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.8-103.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะพยายามปรับตัวขึ้นเหนือโซน 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่าภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ก็กลับมากดดันให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวลดลง สู่โซน 2,420 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เข้าใกล้โซนแนวรับระยะสั้นและเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาประเด็นการเมืองไทย เนื่องจากจะศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคก้าวไกลในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยหากเกิดความไม่แน่นอนของการเมืองไทยในระยะสั้น (ซึ่งอาจต้องรอลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า) ก็อาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินและเสี่ยงที่จะทำให้เกิดแรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติได้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ในเดือนกรกฎาคม อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.8% (+0.2%m/m) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 0.40% ตามการปรับตัวขึ้นบ้างของราคาอาหารและราคาพลังงาน
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศของจีน ผ่านรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนกรกฎาคม
และในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอติดตามรายงานยอดสต็อกน้ำมันคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจสะท้อนถึงความต้องการใช้พลังงานในช่วงนี้ และอาจกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบ
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ในช่วงนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทเริ่มเผชิญความเสี่ยงด้านอ่อนค่ามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.60 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ในวันก่อน โดยในวันนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของค่าเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้คำวินิจฉัยในคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้บ้าง อย่างไรก็ดี เรายังคงประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง (Sell on Rally) ทำให้หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ก็อาจเริ่มชะลอการอ่อนค่าแถวโซน 35.65 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวต้านถัดไปแถว 35.85 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ชัดเจน อาจต้องเห็นการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำประกอบด้วย ซึ่งอาจเกิดในจังหวะที่ตลาดปรับลดมุมมองต่อการลดดอกเบี้ย “เร็วและแรง” ของเฟด อย่างชัดเจน
ในส่วนโซนแนวรับค่าเงินบาทนั้น เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าผ่านโซน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทว่า ควรระวังความเสี่ยงที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้เร็วและแรง หากตลาดเผชิญปัจจัยใหม่ๆ จนทำให้เกิดการเร่ง Unwind JPY-Carry Trade หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) กลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วในระยะสั้น
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.65 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น