ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (9 ส.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ส.ค.67) ที่ระดับ  35.28 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.36 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.22-35.41 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ (ซึ่งหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วันก่อนหน้า และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร) หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านแถว 2,420-2,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าว ได้ช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงมากกว่าคาด สู่ระดับ 2.33 แสนราย ช่วยให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนักและอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดค่าเงิน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจทยอยกลับมาลดสถานะ Short JPY หรือ Unwind JPY-Carry Trade เพิ่มเติมได้ (รอจังหวะเงินเยนผันผวนอ่อนค่าลง)

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนักกว่าคาด จากรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส อาทิ Eli Lilly +9.5% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น +2.30% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.08% หลังในช่วงแรกปรับตัวลงหนักตามแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง หลังหุ้นกลุ่มเทคฯ สหรัฐฯ มีแนวโน้มรีบาวด์ขึ้นได้แรง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส 
 
ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ดังจะเห็นได้จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 56% ที่จะลดดอกเบี้ยถึง 50bps ในการประชุมเดือนกันยายน ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ผู้เล่นในตลาดเคยเชื่อว่าเฟดมีโอกาสเกิน 80% ที่จะลดดอกเบี้ยถึง 50bps ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้แนวต้าน 4.00% อีกครั้ง สอดคล้องกับที่เราประเมินไว้ และเราคงมุมมองเดิมว่า การทยอยปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อาจทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ โดยต้องจับตาโซนแนวต้าน 4.00% เพราะหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทรงตัวเหนือระดับดังกล่าวได้ ก็อาจปรับตัวขึ้นต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 4.15%-4.20% ซึ่งเราคงแนะนำใช้กลยุทธ์ Buy on Dip รอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ ตามเดิม 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และฝั่งยุโรป ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 103.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103-103.5 จุด) อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนจากการทยอย Unwind JPY-Carry Trade หลังเงินเยนมีจังหวะอ่อนค่าลงเหนือโซน 147 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะ Short JPY หรือ Unwind JPY-Carry Trade หนุนให้เงินเยนสามารถแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 2,460 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า แรงซื้อราคาทองคำบางส่วน อาจมาจากการเตรียมรับมือความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้ หลังมีรายงานข่าวว่า อิหร่านและพันธมิตร Axis of Resistance อาจเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ในช่วงวันหยุด Tisha B’Av 12-13 สิงหาคมนี้  

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาพเศรษฐกิจจีนจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนกรกฎาคม 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกรกฎาคม ของเยอรมนี เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ในช่วงนี้  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ในช่วงวันก่อนหน้า จนมาถึงช่วงเช้าวันนี้ เงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง มากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้มาก หลังเงินบาทได้แข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรายังมองว่า Bullish Reversal Pattern หรือสัญญาณการกลับตัวอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ยังไม่ถูกล้างไปโดยสิ้นเชิง ตราบใดที่เงินบาทยังสามารถแกว่งตัวแถวโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ แต่เรายอมรับว่า หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม เงินบาทก็อาจแกว่งตัว sideways ใกล้โซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยเรามองว่า ในส่วนปัจจัยที่หนุนการแข็งค่าของเงินบาท อย่าง การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำนั้น ก็เริ่มชะลอลงได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้หากราคาทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ก็อาจต้องเห็นสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงและเสี่ยงบานปลายมากขึ้น ซึ่งเรามองว่า ต้องจับตาช่วงวันที่ 12-13 สิงหาคมนี้ ว่าอิหร่านและพันธมิตร Axis of Resistance จะเปิดฉากโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ได้จริงหรือไม่ (หรืออย่างน้อยในช่วงระยะสั้นนี้) อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้นจริง ตลาดการเงินก็อาจเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ส่วนราคาน้ำมันดิบก็เสี่ยงพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าและช่วยลดทอนอานิสงส์ฝั่งแข็งค่าของเงินบาท หากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นได้ 

นอกจากนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงการเมืองในประเทศรออยู่ โดยเฉพาะในสัปดาห์หน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี ทำให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในระยะนี้ อาจมีความผันผวน และนักลงทุนต่างชาติบางส่วนก็อาจยังไม่รีบเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย จนกว่าความเสี่ยงการเมืองไทยจะคลี่คลายลง ทำให้เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด 

อย่างไรก็ดี เราอยากขอย้ำว่า ควรระวังความผันผวนจากการทยอย Unwind JPY Carry Trade หรือ สถานะ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) เพิ่มเติม หลังเงินเยนญี่ปุ่นได้ผันผวนอ่อนค่าลงเหนือระดับ 147 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ทำให้เงินเยนญี่ปุ่นมีโอกาสผันผวนแข็งค่าขึ้น กดดันเงินดอลลาร์และอาจหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.35 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 09 ส.ค. 2567 เวลา : 09:59:48

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:04 pm