นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 ส.ค.67) ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.16 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราได้ประเมินไว้ (แกว่งตัวในช่วง 34.99-35.17 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดย การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ที่ชะลอลงสู่ระดับ 2.2% (+0.0%m/m) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความมั่นใจมากขึ้นต่อแนวโน้มการชะลอของเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ (ดัชนี PPI มีความสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดติดตามพอสมควร) นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านแถว 2,470 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะย่อตัวลงมาบ้างตามแรงขายทำกำไร
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ล่าสุดที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 4 ครั้งในปีนี้ หากแนวโน้มเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.68%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.52% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ยังคงออกมาสดใส ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรปก็ได้รับอานิสงส์จากรายงานดัชนี PPI สหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 4 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน Shell -0.6% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงราว -1.6%
ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ที่ชะลอลงกว่าคาด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดจะมั่นใจมากขึ้น ว่าสามารถคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ เปิดโอกาสให้เฟดสามารถทยอยลดดอกเบี้ยราว 4 ครั้งในปีนี้ได้ หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.85% หลังจากที่ในช่วงสัปดาห์ก่อน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.00% อนึ่ง เราคงประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways (3.70%-4.00%) ในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม จนมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ชัดเจน และเรายังคงคำแนะนำเดิม “เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip” หรือเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ส่วนจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นนั้น ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดพิจารณาขายทำกำไรได้บ้าง หากมีกลยุทธ์ Range-Bound Trading
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง จากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่าเฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 4 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็เป็นอีกปัจจัยที่ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 102.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.5-103.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,510 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่าราคาทองคำก็เผชิญแรงขายทำกำไรพอสมควรในโซนดังกล่าว กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงกลับมาแถว 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกรกฎาคม ของสหรัฐฯ ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จะชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เฟดคลายกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อและเพิ่มโอกาสที่เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 4 ครั้งในปีนี้ (ตามมุมมองล่าสุดของผู้เล่นในตลาด) อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด สวนทางกับสิ่งที่ตลาดคาดหวัง
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนกรกฎาคม ของอังกฤษ หลังในวันก่อนหน้า รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมของ BOE ในปีนี้ลงบ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ในช่วงวันที่ผ่านมา
ทางฝั่งเอเชียนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ซึ่งอาจเริ่มมีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ จากระดับปัจจุบันที่ 5.50% หลังอัตราเงินเฟ้อของนิวซีแลนด์ได้ชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนภาพเศรษฐกิจก็เริ่มมีแนวโน้มชะลอเช่นกัน
และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงเวลา 15.00 น. เป็นต้นไป โดยควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน หากผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยมากขึ้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า อาจต้องปรับมุมมองต่อแนวโน้มเงินบาทใหม่ จากที่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เราได้ประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนในลักษณะ Sideways Up หรือทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง จากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า อาทิ ปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศ เป็นต้น กอปรกับในเชิงเทคนิคัล เงินบาท (USDTHB) ได้ส่งสัญญาณกลับตัว Bullish Reversal ใน Time Frame รายวัน ทำให้เรามีความมั่นใจต่อมุมมองดังกล่าว ทว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงวันก่อนหน้า จนหลุดโซนแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ นั้น ได้ทำให้ ภาพ Bullish Reversal ดังกล่าวเปลี่ยนเป็นโดยสิ้นเชิง ทำให้เราประเมินใหม่ว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ในช่วงหลังจากนี้ โดยเงินบาทอาจแกว่งตัวแถวโซนแนวรับสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ไปก่อน แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวได้ชัดเจน ก็อาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวรับถัดไปแถว 34.85 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ขณะที่โซนแนวต้านของเงินบาทนั้น จะค่อนข้างหน้าแน่น ตั้งแต่ช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่จะเป็นโซนแนวต้านสำคัญ
ทั้งนี้ แม้เราจะปรับมุมมองต่อแนวโน้มเงินบาท จาก Sideways Up เป็นเพียง Sideways ทว่า เงินบาทก็ยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงวันนี้ หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือ ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทยมากขึ้น หลังรับรู้คำวินิจฉัยคดีถอดถอนนายกฯ ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม (อาจเห็นการทยอยขายทำกำไรบอนด์ หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้น พร้อมการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์) กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.25 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้คำวินิจฉัยคดีถอดถอนนายกฯ และ ช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)
ข่าวเด่น