ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (14 ส.ค.67) บวก 242.75 จุด คาดเฟดลดดอกเบี้ย หลังดัชนี CPI ชะลอตัวต่ำกว่า 3%


 

ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (14 ส.ค.67) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,008.39 จุด เพิ่มขึ้น 242.75 จุด หรือ +0.61%,ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,455.21 จุด เพิ่มขึ้น 20.78 จุด หรือ +0.38% และ ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,192.60 จุด เพิ่มขึ้น 4.99 จุด หรือ +0.03% หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำกว่า 3% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.นี้

โดย กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 2.9% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.0% หลังจากปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย.

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2564 และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนมิ.ย.

เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 55% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. โดยก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI นั้น นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบเท่ากันต่อการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% และ 0.50% ในเดือนก.ย.

คริส ลาร์กิน กรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนและการซื้อขายหลักทรัพย์ของมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า “แม้ว่าดัชนี CPI ไม่ได้ชะลอตัวลงมากเท่ากับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่มีการเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และ CPI ก็ออกมาสอดคล้องกับการคาดการณ์ จึงไม่ได้ทำให้ตลาดผันผวน และคำถามต่อจากนี้ก็คือว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ในการประชุมเดือนก.ย. เราคาดว่าหากข้อมูลส่วนใหญ่ที่จะมีการเปิดเผยในช่วง 5 สัปดาห์ข้างหน้าบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ก็อาจจะทำให้เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบเชิงรุก”

ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ร่วงลง 10.65% ปิดที่ระดับ 16.19 จุด โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ระดับ 20 จุดติดต่อกันเป็นวันที่สอง หลังจากที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 65 จุดเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ

หุ้น 8 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก โดยดัชนีหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 1.29% และ 0.66% ตามลำดับ ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสารและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวลง 0.91% และ 0.41% ตามลำดับ

หุ้นอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ร่วงลง 2.3% และส่งผลให้ดัชนี Nasdaq ลดช่วงบวก หลังจากสื่อรายงานว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการแยกธุรกิจเสิร์ชเอนจิน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางสหรัฐมีคำวิจฉัยว่า กูเกิลได้ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด โดยทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อกระทำการผูกขาดอย่างผิดกฎหมายด้วยการทำให้กูเกิลกลายเป็นเครื่องมือสืบค้นตั้งต้นของโลก โดยคำตัดสินดังกล่าวเปิดทางให้มีการพิจารณาคดีครั้งที่สอง ซึ่งอาจรวมถึงการแยกบริษัทอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ให้แตกออกเป็นบริษัทย่อย เพื่อลดอิทธิพลของบริษัทใหญ่ และอาจพลิกโฉมภูมิทัศน์ของตลาดการโฆษณาออนไลน์ที่กูเกิลครองตลาดมายาวนานหลายปี

บันทึกโดย : วันที่ : 15 ส.ค. 2567 เวลา : 09:47:11

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:30 am