ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 ส.ค.67) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 35.09 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 ส.ค.67) ที่ระดับ  35.09 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.97 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นแถวโซน 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 34.91-35.21 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล้วนออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และยิ่งลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ลง โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดคาดว่า เฟดมีโอกาส 75% ที่จะลดดอกเบี้ยลง -25bps ในการประชุมเดือนกันยายน นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวลงกว่า -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด อย่างไรก็ดี เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าจนทะลุโซนแนวต้าน 35.15-35.20 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้อย่างชัดเจน หลังราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว รวมถึงแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาดบางส่วน ก็สามารถช่วยหนุนค่าเงินบาท  

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้ง ยอดค้าปลีกและยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานนั้นออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส อาทิ Cisco +6.8%, Walmart +6.6% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.61%  

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.15% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ยังคงออกมาสดใส อาทิ Adyen +12% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับอานิสงส์จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก 
 
ในส่วนตลาดบอนด์ บรรดาผู้เล่นในตลาดได้ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +10bps เข้าใกล้ระดับ 3.95% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะผันผวนไปตาม การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทั้งนี้ เรายังคงคำแนะนำเดิม “เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip” หรือเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ส่วนจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นนั้น ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดพิจารณาขายทำกำไรได้บ้าง หากมีกลยุทธ์ Range-Bound Trading 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.5-103.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาด ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะสามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง กลับสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ แถวโซน 2,490 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม ซึ่งหากออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจยังไม่รีบลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนได้ โดยในกรณีดังกล่าวก็อาจพอช่วยหนุนให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) สามารถแข็งค่าขึ้นได้บ้าง 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนสิงหาคม โดยเฉพาะในส่วนของคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้  
 
และในฝั่งไทย ไฮไลท์สำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ในช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งผู้ที่จะได้เป็นนายกฯ นั้นจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่า 247 เสียง จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 493 ท่าน โดยหากผลการโหวตเลือกนายกฯ เป็นไปโดยราบรื่น และตามที่ตลาดคาดหวัง เรามองว่า ตลาดการเงินไทยก็อาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และจังหวะปรับตัวลดลงของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา แต่ทว่า ในเชิงเทคนิคัลนั้น เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทได้เข้าสู่ช่วงผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.15-35.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ซึ่งภาพดังกล่าวก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น และอาจจะต้องรอให้ตลาดรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (รอติดตามงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole) จนทำให้ ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะไม่เร่งลดดอกเบี้ยในปีนี้ และอาจลดดอกเบี้ยราว -75bps (หรือน้อยกว่านั้น) หรืออาจเป็นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น (แต่ในกรณีนี้ เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุน หากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นได้) หรือสถานการณ์การเมืองไทยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนอยู่

โดยในส่วนของสถานการณ์การเมืองไทยนั้น เรามองว่า ในวันนี้ มีความเป็นไปได้ว่า พรรคเพื่อไทยและบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถลงคะแนนเสียงเพื่อโหวตให้แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ คนถัดไปได้สำเร็จ ทำให้ตลาดอาจคลายกังวลต่อประเด็นความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินไทยอาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) และมีโอกาสที่จะเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้บ้าง ซึ่งจะช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท และทำให้เงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ในช่วงนี้ได้ ทั้งนี้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ได้ ก็อาจมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ และ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญ ขณะที่บริเวณ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นแนวรับในช่วงนี้ โดยมีแนวรับถัดไปแถว 34.85 บาทต่อดอลลาร์ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ส.ค. 2567 เวลา : 10:27:22

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:16 pm