ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (20 ส.ค.67) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 ส.ค.67) ที่ระดับ  34.36 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.46 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรกเงินบาททยอยอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ทยอยปรับตัวลดลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นแถว 2,485 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะรีบาวด์สูงขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้านแถว 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ได้ทยอยอ่อนค่าลง พร้อมกับจังหวะการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว -100bps ในปีนี้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ พร้อมกับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่โซนแนวรับแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวได้ ก็อาจทยอยแข็งค่าทดสอบจุดแข็งค่าสุดในปีนี้แถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ประธานเฟดอาจส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยได้ในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดต่างก็คลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักมากขึ้น อนึ่ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ Nvidia +4.4% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.39% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.97%  

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.61% ตามอานิสงส์ของภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Rio Tinto +1.7% หลังราคาแร่โลหะได้ทยอยปรับตัวขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ 
 
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ในกรอบ 3.80%-3.90% หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole อนึ่ง ควรระวังจังหวะปรับตัวสูงขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หากตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยในปีนี้ ได้น้อยกว่า -100bps ที่ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เรายังคงคำแนะนำเดิม “เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip” หรือเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ส่วนจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นนั้น ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดพิจารณาขายทำกำไรได้บ้าง หากมีกลยุทธ์ Range-Bound Trading 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดราว -100bps ในปีนี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.8-102.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าในช่วงแรกราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากแรงขายทำกำไร รวมถึงการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จนลงมาทดสอบโซนแนวรับ 2,520-2,530 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน 2,540-2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามจังหวะการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทองคำตามการเคลื่อนไหวของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงคืนที่ผ่านมา  

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกรกฎาคม 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Raphael Bostic (Fed Atlanta) และ Michael Barr (Vice Chair for Supervision) ในช่วงเช้าตรู่ของวันพุธที่ 21 สิงหาคม เพื่อประเมินมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ ทิศทางนโยบายการเงินของเฟด 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่เราประเมินไว้ ทว่า เราเริ่มเห็นสัญญาณว่า การแข็งค่าขึ้นดังกล่าวของเงินบาทอาจชะลอลงบ้างในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ เรามองว่า ปัจจัยที่เคยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงก่อนหน้า อย่าง การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ก็เริ่มเจอโซนแนวต้าน ทำให้ในช่วงระยะสั้น ราคาทองคำก็มีความเสี่ยงที่อาจย่อตัวลง ทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นได้บ้าง จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวในทิศทางที่ชัดเจนขึ้น เช่น ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านและทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ หลังความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยทยอยคลี่คลายลง ทำให้ในเบื้องต้นเราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้โซน 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก หากยังไม่มีปัจจัยเข้ามากดดันเงินบาทที่ชัดเจน เช่น ตลาดกลับไปเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยราว -75bps หรือน้อยกว่านั้น ในปีนี้ (ซึ่งจะกระทบทั้งเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และราคาทองคำ) หรือ ตลาดการเงินไทยถูกกดดันโดยความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนโซนแนวรับของเงินบาทนั้น ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เงินบาทจะแข็งค่าหลุดโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะหากเงินบาทแข็งค่าทะลุโซนดังกล่าวได้จริง จะเปิดโอกาสให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ทดสอบจุดแข็งค่าสุดในปีนี้ แถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก 

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนทั้งในฝั่งแข็งค่าและอ่อนค่า ไปตามทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ในช่วงนี้ มีการเคลื่อนไหวในกรอบที่กว้างพอสมควร 145-148 เยนต่อดอลลาร์ ดังจะเห็นได้จากในช่วงวันก่อนหน้าที่เงินเยนญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นจากโซน 148 เยนต่อดอลลาร์ จนเข้าใกล้ระดับ 145 เยนต่อดอลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นจนทดสอบโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.45 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ส.ค. 2567 เวลา : 10:35:38

23-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 23, 2024, 2:28 pm