นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ส.ค.67) ที่ระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.34 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแกว่งตัว sideways ในกรอบ 34.16-34.35 บาทต่อดอลลาร์ โดยแม้ว่าเงินบาทจะได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังการปรับปรุงรายงานข้อมูลการจ้างงานเบื้องต้น (Preliminary Annual Payrolls Benchmark Revision) ชี้ว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในช่วง 12 เดือนที่สิ้นสุด ณ เดือนมีนาคมของปีนี้ นั้น ลดลงกว่า 8.18 แสน ตำแหน่ง จากที่ได้รายงานก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า แนวโน้มการชะลอลงของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้นนั้น จะทำให้เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนอย่างแน่นอน (พร้อมเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมเดือนกันยายน) และผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ ทว่า เงินบาทก็มีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ และอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) มีจังหวะปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหนักกว่า -2.4% จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ดูไม่น่ากังวลมากนัก
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมีความหวังว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก หลังการปรับปรุงข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ล่าสุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มกลับมากังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเสี่ยงชะลอตัวมากกว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.42%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.33% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มยานยนต์ที่ส่วนใหญ่รายงานผลประกอบการที่สดใส อาทิ Ferrari +2.5% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้รับอานิสงส์จากการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ บ้าง ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการฝั่งยุโรป รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟด
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวลดลงหลุดโซน 3.80% หลังผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้การปรับปรุงข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เบื้องต้น ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง สู่ระดับ 3.80% อีกครั้ง ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.80% จนกว่าตลาดจะรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น หากผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดใหม่ โดยอาจกลับมามองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือนกันยายนและยังให้โอกาสราว 38% ที่เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ยได้ -50bps ในการประชุมดังกล่าว หลังผู้เล่นในตลาดรับรู้การปรับปรุงข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เบื้องต้นและรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.9-101.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าในช่วงแรกราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับแถว 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่สุดท้ายราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์กลับขึ้นมายังโซน 2,510-2,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ตามจังหวะการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังตลาดรับรู้ทั้งการปรับปรุงข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เบื้องต้น และรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด ซึ่งความผันผวนของราคาทองคำดังกล่าว ก็ส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนด้วยเช่นกัน ตามโฟลว์ธุรกรรมทองคำที่เกิดขึ้น
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนสิงหาคม ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยผู้เล่นในตลาดจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งหากดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในฝั่งสหรัฐฯ นั้น ปรับตัวดีขึ้น หรือ อาจออกมาดีกว่าคาด ก็จะพอช่วยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก หลังตลาดรับรู้การปรับปรุงรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เบื้องต้นในคืนที่ผ่านมาได้บ้าง และอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย -100bps ในปีนี้
นอกจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึงจับตาการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินของเฟด จากงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นมีกำลังมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงวันก่อนหน้า และยังอ่อนค่าลงได้ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมติ 6-1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามที่เราได้ประเมินไว้ในวันก่อน ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ Call Bottom USDTHB แถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (เราประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าหลุดโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากเราคงมุมมองเดิมว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้นได้รับรู้ปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไปมากแล้ว ขณะที่ เงินบาทก็เริ่มเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น หากตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในสัปดาห์นี้ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อีกทั้ง เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในจังหวะย่อตัว ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ อาจขาดปัจจัยหนุนในช่วงนี้ได้ นอกจากนี้ จากการประเมินสถานะการถือครองของผู้เล่นในตลาด รวมถึงการประเมิน Valuation ของเงินบาท ก็ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจทยอยพลิกกลับมาอ่อนค่าจากโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ อนึ่ง เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทได้กลับมาสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงชัดเจน หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ในเบื้องต้น เราประเมินว่า เงินบาทจะมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านสำคัญในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับนั้นได้ขยับขึ้นมาแถว 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์
เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย (Jobless Claims) ไปจนถึงช่วง 20.45 น. (ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ) ซึ่งอาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดในประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ โดยเฉพาะในกรณีที่รายงานข้อมูลดังกล่าวออกมาดีกว่าคาด
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.40 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น