ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (23 ส.ค.67) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 ส.ค.67) ที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 34.33-34.62 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนสิงหาคม และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) นั้นล้วนออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดลงไปบ้าง นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงกว่า -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,470 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยแถวโซน 2,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำนั้นเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ดูไม่น่ากังวลมากนัก

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลงบ้าง ก่อนรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด นอกจากนี้ การทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นบ้างนั้น ก็ยังกดดันหุ้นธีม AI/Semiconductor เพิ่มเติม อาทิ Nvidia -3.7% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.67% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.89%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.35% โดยแม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงออกมาสดใสอยู่บ้าง รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare อย่าง Novo Nordisk +2.4% ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้างจากการขายทำกำไรหุ้นธีม AI/Semiconductor เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (ASML -1.2%) รวมถึงการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและเหมืองแร่ (BP -1.0%, Rio Tinto -1.1%)

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.90% อีกครั้ง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อนึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.80% จนกว่าตลาดจะรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด โดย ควรระวังความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น หากผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดใหม่ เช่น มองว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า -100bps ในปีนี้ ซึ่งมีโอกาสสูงที่ถ้อยแถลงของประธานเฟดจะทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามีมุมมองดังกล่าวได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็เริ่มชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนวันศุกร์นี้ ทำให้ โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.2-101.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,510-2,515 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะรีบาวด์ขึ้นได้บ้างมายังโซน 2,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวของบรรดาผู้เล่นในตลาด

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole (ตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงเวลา 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) โดยเราประเมินว่า ประธานเฟดอาจส่งสัญญาณว่า เฟดพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ หลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่เฟดเริ่มเห็นสัญญาณความอ่อนแอในตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า ประธานเฟดจะไม่ได้ส่งสัญญาณว่า เฟดจะพร้อมลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง หรือ เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ยได้อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ โดยประธานเฟดอาจเน้นย้ำว่า การตัดสินใจต่อนโยบายการเงินของเฟดนั้นจะขึ้นกับข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดได้รับเป็นสำคัญ (Data Dependent)

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของทั้งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงผู้ว่าฯ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole ด้วยเช่นกัน เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทั้ง ECB และ BOE

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยเฉพาะหากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในคืนวันศุกร์นี้ ไม่ได้สะท้อนว่า เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทให้ผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งอาจกดดันให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวลดลงและยังอยู่ในช่วงปรับฐาน (Correction) ได้ โดยหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงได้จริง ในกรณีดังกล่าวนั้น ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดนั้น เรามองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัว sideways แถวโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทได้ผันผวนอ่อนค่าลง รวมถึงอาจมีแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ทั้งนี้ เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด โดยเงินบาทอาจมีโซนแนวรับแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ และหากประเมินด้วยปัจจัยเชิงเทคนิคัล เรามีความมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทอาจเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลง หลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจนในช่วงคืนที่ผ่านมา

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.80 บาท/ดอลลาร์
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ส.ค. 2567 เวลา : 11:02:25

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:16 am