ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (28 ส.ค.67) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 33.93 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 ส.ค.67) ที่ระดับ  33.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.89-34.14 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดยังคงออกมาผสมผสาน โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนสิงหาคม ที่แม้จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.3 จุด ดีกว่าคาดพอสมควร ทว่าในผู้บริโภคต่างกังวลต่อแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากขึ้น จากรายงานข้อมูลการจ้างงานที่ชะลอตัวลงชัดเจนในเดือนกรกฎาคม ซึ่งภาพดังกล่าวยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้อานิสงส์จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ก็ปรับตัวขึ้นตามการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ 

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของ Nvidia +1.5% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันบ้างจากแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon -1.4% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.16%  

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.16% โดยตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุน จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร นำโดย Banco Santander +2.5% หลังประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนในมูลค่าราว 1.5 พันล้านยูโร อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ได้กดดันบรรดาหุ้นฝรั่งเศส อาทิ Hermes -2.7%, LVMH -1.8% และกดดันตลาดหุ้นยุโรปโดยรวม
 
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีการปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.86% ก่อนที่จะพลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.82% หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาผสมผสานนั้น อาจยังคงทำให้เฟดสามารถทยอยลดดอกเบี้ยราว -100bps นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีส่วนหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงมีลักษณะแกว่งตัว sideways ในกรอบ โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาผสมผสาน ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ ทั้งรายงานผลประกอบการของ Nvidia และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 100.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.5-100.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 2,560 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่สหรัฐฯ อย่าง Nvidia (ตลาดรับรู้ในช่วง After Market Close) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของบรรดาหุ้นในธีม AI/Semiconductor และบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร เนื่องจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาหุ้น Nvidia ในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลให้ Nvidia มีน้ำหนักเกิน 6% บนดัชนี S&P500 นอกจากรายงานผลประกอบการของ Nvidia ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดสต็อกน้ำมันโดย EIA ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบได้ในระยะสั้น 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด และ BOE

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งหนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น ทว่า เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานผลประกอบการของ Nvidia รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ทำให้เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจนมากนัก จนกว่าจะรับรู้ปัจจัยดังกล่าว 

ซึ่งในส่วนของผลประกอบการของ Nvidia นั้น เรามองว่า มีความเสี่ยงพอสมควรที่ ราคาหุ้น Nvidia อาจปรับตัวลดลงได้ หากบริษัทไม่ได้ให้คาดการณ์ผลประกอบการในอนาคต (Earnings Guidance) ที่แข็งแกร่งอย่างที่ตลาดคาดหวัง แม้ว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 จะโตได้ตามที่ตลาดคาดหวัง หรือ อาจจะดีกว่าคาดก็ตาม ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินได้ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย ที่อาจเห็นแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ ธีม AI/Semiconductor ในวันพฤหัสฯ นี้ 

ส่วนปัจจัยหนุนเงินบาท อย่างราคาทองคำนั้น เรามองว่า ราคาทองคำยังขาดปัจจัยหนุนการปรับตัวขึ้นเพิ่มเติม ทำให้มีความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจมีจังหวะย่อตัวลงได้บ้าง จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ อาทิ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและเสี่ยงบานปลายเป็นสงครามในภูมิภาค (ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เห็นภาพดังกล่าว แต่เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาในช่วงนี้) อีกทั้งในช่วงปลายเดือน เรามองว่า เงินบาทจะยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนอยู่ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น ก็อาจหนุนให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบเข้ามากดดันเงินบาทได้เช่นกัน ทำให้ การแข็งค่าของเงินบาทอาจจำกัดแถวโซนแนวรับ 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนสิงหาคมในวันที่ 6 กันยายน นี้ ทำให้เงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวต้านแรกแถว 34.05-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.20

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.10 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ส.ค. 2567 เวลา : 11:17:54

14-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 14, 2024, 7:53 am