ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (6 ก.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 ก.ย.67) ที่ระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.68 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.56-33.70 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม ทิศทางเงินดอลลาร์ (รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ) และโฟลว์ธุรกรรมซื้อ-ขายทองคำ ซึ่งเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 9.9 หมื่นตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดประเมินไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.4 แสนต่ำแหน่ง โดยในช่วงดังกล่าวราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการเดือนสิงหาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.5 จุด ดีกว่าคาดเล็กน้อย ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ก็ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลง หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับมาย่อตัวลงบ้าง ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้นจากช่วงตลาดรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ 

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมาผสมผสาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานในวันศุกร์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป อนึ่ง แม้ว่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง แต่ตลาดก็ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Tesla +4.9%, Amazon +2.6% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.25% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.30%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.54% ท่ามกลางแรงขายบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ Hermes -6.4% จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงแรงขายบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor  นำโดย ASML -2.2% ทว่าตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่มสาธารณูปโภค อาทิ Enel +1.6% รวมถึงหุ้นกลุ่มการเงินส่วนใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นสวนภาพรวมตลาด

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนไปตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน  ก่อนที่จะทรงตัวแถวระดับ 3.73% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่จะรายงานในช่วง 19.30 น. ของคืนวันศุกร์นี้ โดยเรามองว่า ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม จะส่งผลต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอัตราการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมที่เหลือของปีนี้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways โดยมีทั้งจังหวะอ่อนค่าลง สลับแข็งค่าขึ้น ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน (ยอดการจ้างงานภาคเอกชนแย่กว่าคาด แต่ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานและดัชนี ISM PMI ภาคการบริการออกมาดีกว่าคาด) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ก่อนจะปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ที่ชัดเจน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 101 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101-101.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) เคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก่อนที่จะทรงตัวแถวระดับ 2,547 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทั้งซื้อและขายทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทเช่นกัน 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด คือ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญกับ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงหลังรับรู้ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด    

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนาม จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนสิงหาคม ทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เป็นต้น

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้มาก (หลุดโซนแนวรับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่ประเมินไว้ในช่วงต้นสัปดาห์) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการปรับสถานะ (Cut Loss) ของผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงวันก่อนหน้า จากหลายปัจจัยทั้ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ชะตาแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ราคาทองคำ รวมถึงเงินบาทได้อย่างมีนัยสำคัญ 

โดยเราย้ำมุมมองเดิมว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ 

หากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น 1.6 แสนตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ก็ลดลงสู่ระดับ 4.2% ตามที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หรืออาจออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น และปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ โดยในกรณีนี้ ควรจับตาว่า เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 33.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์)

ในขณะที่ หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน อาทิ ยอดการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่ำกว่า หรือ ใกล้ 1 แสนต่ำแหน่ง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% หรือสูงกว่า ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนัก หรือ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทำให้ผู้เล่นในตลาดคงคาดหวังว่า เฟดต้องเร่งลดดอกเบี้ย ซึ่งอาจกดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พร้อมกับหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้ และหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งต้องลุ้นว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดแนวรับสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะการแข็งค่าดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าต่อสู่โซน 33.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก อนึ่ง เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้หรือไม่นั้น อาจต้องจับตาบรรยากาศในตลาดการเงิน ว่าจะกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันให้บรรดานักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นหรือไม่  

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ก.ย. 2567 เวลา : 10:13:01

17-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 17, 2024, 1:52 am