ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (9 ก.ย.67) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 33.70 บาทต่อดอลลาร์




นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ก.ย.67) ที่ระดับ  33.70 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  33.50 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูง (แกว่งตัวในกรอบ 33.35-33.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็ว ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านของราคาทองคำ หลังยอดการจ้างงานยอดภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นเพียง +1.42 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ราว +1.6 แสนต่ำแหน่ง อีกทั้งยอดการจ้างงานในช่วงเดือนก่อนๆ ก็ถูกปรับลดลงพอสมควร อย่างไรก็ดี รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ โดยรวมไม่ได้แย่ไปทั้งหมด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจว่า เฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ หลังอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ได้ปรับลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.2% ส่วนอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ก็เร่งตัวขึ้น +3.8%y/y ซึ่งภาพดังกล่าว รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงินได้หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ส่วนราคาทองคำก็ปรับตัวลดลงเกือบ -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กลับสู่โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง ส่งผลให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่คาด ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด โฟลว์ขายทำกำไรทองคำและแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรรอจับตา ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมรอลุ้น รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึง ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเฟดในการประชุมเดือนกันยายนนี้ได้ โดยหากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงมากกว่าคาด หรือ ชะลอลงต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจเร่งลดดอกเบี้ย -125bps ได้ทั้งในปีนี้และในปีหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ทั้งนี้ แนวโน้มยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ทั้ง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ยังไม่ได้สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แย่ลงชัดเจนอย่างที่บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างกังวล ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยราว -25bps ในแต่ละการประชุมที่เหลือในปีนี้ รวมเป็นการลดดอกเบี้ย -75bps และลดดอกเบี้ยอีกราว -100bps ในปีหน้า ทว่า เฟดก็มีโอกาสลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่เราประเมินไว้ หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ แย่ลงชัดเจน มากกว่าที่เราคาด ซึ่งควรจะเห็นการเร่งตัวขึ้นของยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน พร้อมกับยอดการจ้างงานที่ลดลงต่อเนื่อง 

* ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) -25bps สู่ระดับ 3.50% พร้อมกันนั้น ทาง ECB อาจส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ECB จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2-3 ครั้งในปีนี้ (รวมการประชุมเดือนกันยายน) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ซึ่งหากตลาดแรงงานอังกฤษชะลอตัวลงมากขึ้นชัดเจน ก็อาจเพิ่มโอกาสที่ BOE อาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ผู้เล่นในตลาดประเมินไว้ (ล่าสุดผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้อีกราว 1-2 ครั้ง) ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงได้บ้าง นอกจากนี้ ควรจับตาสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส หลังฝรั่งเศสได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ Michel Barnier ผู้เคยเป็นหัวหน้าทีมเจรจาข้อตกลง Brexit ของทางสหภาพยุโรป (EU) ทั้งนี้ การเมืองฝรั่งเศสยังมีความไม่แน่นอนอยู่ เนื่องจากรัฐบาลของนายกฯ Michel Barnier มีความเสี่ยงเผชิญการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเริ่มเจอการประท้วงต่อต้านจากประชาชน หลังพรรคฝั่งซ้าย (New Popular Front) ที่ชนะการเลือกตั้งกลับไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและได้ตำแหน่งนายกฯ อย่างที่ควรจะเป็น 

* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนในเดือนสิงหาคม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดการส่งออกและนำเข้า (Export & Imports) และอัตราเงินเฟ้อ CPI ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน ก็อาจช่วยหนุนความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาด ส่งผลดีต่อแนวโน้มตลาดการเงินจีนและอาจช่วยพยุงค่าเงินหยวนของจีน (CNY) 

* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนสิงหาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลง (เราจะมั่นใจมากขึ้น หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าเหนือระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน) แต่เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นบ้าง หากผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อมั่นว่าเฟดจะเร่งลดดอกเบี้ย อนึ่ง ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน ที่จะกระทบทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) พร้อมติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทย รวมถึงจับตาการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาทองคำ

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน หรืออัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนจากบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดและโอกาสที่เงินยูโร (EUR) อาจอ่อนค่าลง หาก ECB ส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.40-34.10 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.85 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ย. 2567 เวลา : 11:10:55

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:36 am