นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (11 ก.ย.67) ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 33.64-33.77 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะแกว่งตัวในกรอบ Sideways ทว่า เงินบาทก็พอได้แรงหนุนจากการทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ซึ่งสามารถปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 2,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงินทั้งฝั่งสหรัฐฯและยุโรป รวมถึงการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทดูชะลอลงบ้างแถวโซน 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบ หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงหนักราว -2.5% จากการปรับลดคาดการณ์อุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันดิบทั้งในปีนี้และปีหน้าโดยกลุ่ม OPEC
แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Tesla +4.6%, Microsoft +2.1% แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ทั้ง JPM -5.2% และ Goldman Sachs -4.4% จากความกังวลแนวโน้มผลประกอบการ นอกจากนี้ บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานก็ปรับตัวลงหนัก อาทิ Exxon Mobil -3.6% หลังราคาน้ำมันดิบดิ่งลง -2.5% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.45%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 กลับมาปรับตัวลดลง -0.54% ท่ามกลางแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มยานยนต์ อาทิ Deutsche Bank -4.9% BMW -11.1% จากความกังวลแนวโน้มผลประกอบการ นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานยุโรป อย่าง Shell -1.5% ก็เผชิญแรงขายเพิ่มเติม หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังว่าเฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยจนถึงระดับ 2.75%-3.00% ภายในปีหน้า ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.64% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดใหม่ของปีนี้ อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (มองว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดประเมิน) ซึ่งต้องรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot) โดยเราคงเน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวอยู่แล้วนั้น ก็สามารถ Let Profits Run หรืออาจพิจารณาทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ตามความเหมาะสม (Sell on Rally)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงิน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ รวมถึงการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทว่า เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้อานิสงส์จากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 101.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.5-101.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหวไร้ทิศทาง แต่การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงิน ก็ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ฝั่งสหรัฐฯ โดยในช่วงเช้าราว 8.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Harris vs Trump) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ หากผู้เล่นในตลาดมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อโอกาสที่ผู้ท้าชิงคนใดคนหนึ่งจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ในช่วงราว 19.30 น. ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนสิงหาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เราจะมีมุมมองว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ ทว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทนับตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้านั้น ทำให้เรายังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า เงินบาทจะพลิกกลับไปอ่อนค่าลงได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นการอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจอยู่ในโหมด wait and see เพื่อรอรับรู้ทั้งการโต้วาทีของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ใกล้โซน 33.65 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวรับแถวระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่แนวต้านแรกจะอยู่ในช่วง 33.80 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวต้านถัดไปในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงหลังตลาดรับรู้การโต้วาทีในวันนี้ เนื่องจาก หากผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็อาจหนุนให้ Trump Trades กลับมาเป็นที่สนใจของผู้เล่นในตลาดอีกครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้ไม่ยาก ขณะที่ หากผู้เล่นในตลาดมองว่า กมลา แฮร์ริส จะคว้าชัยชนะได้ ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้บ้าง นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เช่นกัน โดยเราไม่ได้กังวลในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงตามคาด หรือ มากกว่าคาด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้คาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดไปมากแล้ว ทำให้ต้องระวังในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อกลับออกมาสูงกว่าคาด หรือไม่ได้ชะลอลงอย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งอาจนำไปสู่การทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง และทำให้เงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้
เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.90 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงหลังการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)
ข่าวเด่น