ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (24 ก.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 32.96 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 ก.ย.67) ที่ระดับ  32.96 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย (กรอบการเคลื่อนไหว 32.88-33.02 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ท่ามกลางความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด (ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้อีกราว -75bps ในอีกสองการประชุมที่เหลือในปีนี้) รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงร้อนแรงอยู่ ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามจังหวะการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินหลัก (Cross THB) อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังในช่วงนี้ เงินเยนญี่ปุ่นได้ทยอยอ่อนค่าลงมาพอสมควร เมื่อเทียบกับเงินบาท (JPYTHB ต่ำกว่า 23 บาท/100 เยน)

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด (รวมถึงย้ำความจำเป็นของการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมที่ผ่านมา) อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent 7) อยู่ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.28% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.40% แม้ว่ารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุดของยูโรโซน ในเดือนกันยายน จะออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน แต่ภาพดังกล่าวก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ เพื่อประคองเศรษฐกิจ หนุนให้หุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวกับแนวโน้มดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น อาทิ กลุ่มเทคฯ และอสังหาฯ เป็นต้น ขณะที่หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินต่างปรับตัวลดลง 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้างเข้าใกล้โซน 3.80% ตามรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการ เดือนกันยายน ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงบรรยากาศโดยรวมของตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยง ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง ก่อนที่จะย่อลงสู่ระดับ 3.75% หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มเติม อนึ่ง เราคงประเมินว่า ในระยะสั้น ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวลงหนักที่ชัดเจน จนทำให้เฟดจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่ตลาดอาจต้องปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้าง โดยเรายังคงมองว่า กลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว จะสร้างความได้เปรียบให้กับผู้เล่นในตลาด 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นในช่วงบ่ายวันก่อนหน้า หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ในเดือนกันยายนของฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงบ้าง ทว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกจำกัดลงโดยบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 100.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.7-101.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงตลาดเผชิญสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง ก่อนที่จะถูกขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยรวมยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,651 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนกันยายน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB 

ส่วนทางฝั่งเอเชีย ในส่วนนโยบายการเงินนั้น ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มการชะลอตัวของเงินเฟ้อ ส่วนทางฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของผู้ว่าฯ BOJ หลังล่าสุด BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOJ จะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีกครั้งในช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป     

สำหรับในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) เดือนสิงหาคม ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องได้หรือไม่ ในส่วนของยอดการส่งออก ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

และในฝั่งสหรัฐฯ ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนกันยายน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินบาทจะมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เมื่อตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งเรามองว่า มีความเสี่ยงที่ตลาดอาจต้องปรับลดมุมมองต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับจากนี้ไป ไม่ได้ออกมาเลวร้ายนัก หรือ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้บ้าง

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เราประเมินว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติบ้าง โดยเราเริ่มเห็นการปรับลดสถานะ Net Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ผ่านการทยอยขายบอนด์ระยะสั้น ส่วนในฝั่งหุ้นก็เริ่มเห็นความเสี่ยงที่ดัชนี SET อาจเข้าสู่ช่วงพักตัวในระยะสั้น ตามที่เราประเมินไว้ในวันจันทร์ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้บรรดาสกุลเงินหลัก (Cross THB) อ่อนค่าลงพอสมควร เช่น เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบรรดาสกุลเงินดังกล่าวได้บ้าง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงได้รับแรงหนุนและสามารถทยอยปรับตัวขึ้นได้ 

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.05 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 24 ก.ย. 2567 เวลา : 10:25:43

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:34 am