ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 ก.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 ก.ย.67) ที่ระดับ  32.75 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.60 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ Sideways Up หรือ ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง (กรอบการเคลื่อนไหว 32.59-32.81 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงทะลุระดับ 144.50 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ขณะเดียวกัน เงินยูโร (EUR) ก็กลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม China-Recovery Optimism (ความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน) ออกมาบ้าง นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทได้บ้าง 

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมมากนัก โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell และรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันบ้างจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน Exxon Mobil -2.0% ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบ รวมถึงการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Healthcare ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.19% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 กลับมาย่อตัวลง -0.11% ตามแรงขายทำกำไรหุ้นธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ที่ได้ปรับตัวขึ้นร้อนแรงในช่วงระยะสั้น หลังทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน Total Energies -3.2% ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบ รวมถึงการปรับตัวลงของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง SAP -2.4% ที่เผชิญการสอบสวนจากทางการสหรัฐฯ ในข้อหาร่วมกับบริษัทอื่นในการเรียกเก็บค่าบริการจากหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ สูงเกินไป 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.80% อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงมีความกังวลว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟดอาจเปิดความเสี่ยงที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะกลับมาเร่งตัวขึ้นได้ หลังภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงหนัก ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นบ้าง อนึ่ง แม้ว่า เราคงแนะนำ กลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับผู้เล่นในตลาด แต่การทยอยปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่เกิดขึ้น ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจับตาว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 3.80% ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เหนือโซนดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับไปแถว 3.90%-4.00% ได้ไม่ยาก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทว่าการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ยังคงเผชิญแรงขายจากผู้เล่นในตลาดอยู่บ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 100.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.2-101 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงมาบ้าง ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำอยู่ ทำให้โดยรวมราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวแถวโซน 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.20 น. ตามเวลาประเทศไทย พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึง คาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ครั้งสุดท้าย 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะในส่วนของประธาน ECB Christine Lagarde ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ในช่วงระหว่างวัน ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและเจ้าหน้าที่ ECB เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways 32.60-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้ โดยเรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์เริ่มทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงบ้างของบรรดาสกุลเงินหลัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะการลงทุนธีมความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้บ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอการแข็งค่าของบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้ ดังจะเห็นได้จากการที่เงินหยวนจีน (CNY) ก็ไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องชัดเจน (ผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่ได้มั่นใจมากนักต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน) นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยได้บ้าง อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ราคาทองคำยังพอมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้จุดสูงสุดก่อนหน้าที่ทำไว้ เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ชัดเจน และอาจยังเห็นเงินบาทติดอยู่แถวโซนแนวต้าน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ได้

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB โดยเราคงกังวลว่า ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุด นอกจากนี้ ควรระวังการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของฝั่ง ECB เช่นกัน หลังผู้เล่นในตลาดยังไม่ได้คาดหวังว่า ECB จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้พอสมควร ทว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนในระยะหลังนี้ ก็ออกมาไม่สดใสและสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น 

และที่สำคัญ เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะโซนแข็งค่าเกิน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +0.5) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.85 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.ย. 2567 เวลา : 10:50:53

09-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 9, 2024, 5:06 pm