ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (30 ก.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 32.37 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (30 ก.ย.67) ที่ระดับ  32.37 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  32.40 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทโดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways แต่ก็มีจังหวะแข็งค่าขึ้น จนทะลุโซนแนวรับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.27-32.42 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมการปรับตัวขึ้นบ้างของราคาทองคำ หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ชะลอตัวลงต่อเนื่อง และออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นตามบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ปรับตัวลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามแรงขายทำกำไรและจังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างคงคาดหวังว่าเฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นทะลุแนวรับที่เราประเมิน ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนซึ่งหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) และบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้น

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ นอกจากนี้ ควรรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก

 
 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยจะเริ่มจาก รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP จนถึง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (ISM Manufacturing and Services PMIs) เดือนกันยายน พร้อมกับรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดมีโอกาส “เร่งลดดอกเบี้ย” ได้ในสองการประชุมที่เหลือของปีนี้ และมีโอกาสเร่งลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมช่วงต้นปีหน้า ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงหนักหรือออกมาแย่กว่าคาด เฟดก็มีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ล่าสุด ทำให้สุดท้ายผู้เล่นในตลาดต้องทยอยปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดบ้าง เปิดโอกาสให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นได้บ้างในกรณีดังกล่าว 

* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน เดือนกันยายน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 2 และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของ BOE เช่นกัน

* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีนในเดือนกันยายน (ซึ่งจะมีการรายงานในวันเดียวกันทั้งในส่วนของ Official PMI ที่เน้นบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก และ Caixin PMI ที่เน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง) เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม รวมถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ Tankan Survey) 

* ฝั่งไทย – ควรรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนกันยายน พร้อมจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังดัชนี SET ยังคงมีความเสี่ยงอาจย่อตัวลงได้บ้างในระยะสั้น อนึ่ง เงินบาทได้แข็งค่าหลุดทุกโซนแนวรับที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า นอกจากนี้ เมื่อประเมินจากสถิติการเคลื่อนไหวของเงินบาทหลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ก็มีโอกาสที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทะลุโซน 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ทว่า เราคงมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 32.50 บาทต่อดอลลาร์นั้น ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued มากขึ้น (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +1.0 หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 32.00 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นยังมีอยู่ แต่เราเห็นโอกาสที่เงินบาทอาจชะลอการแข็งค่าขึ้น หากเงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นจริง ส่วนนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยตามคาด ทว่า เงินบาทก็อาจยังได้แรงหนุน ตราบใดที่ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นได้ ทั้งนี้ เราขอย้ำว่า ในเชิง valuation เงินบาทนั้นอยู่ในโซน Overvalued มากขึ้น

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า Two-Way Volatility ยังคงเป็นธีมหลักของเงินดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อาจรีบาวด์ขึ้นบ้าง หากตลาดทยอยลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องเห็นภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ไม่ได้เลวร้ายนัก แต่หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด เงินดอลลาร์ก็เสี่ยงอ่อนค่าต่อ ตามความเชื่อมั่นการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดที่จะสูงขึ้น

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.00-32.85 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.20-32.45 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของจีน)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ก.ย. 2567 เวลา : 10:17:35

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:52 am