ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (1 ต.ค.67) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 ต.ค.67) ที่ระดับ  32.40 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง“ จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.18 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้านแรก 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 32.17-32.48 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนีในเดือนกันยายน ชะลอลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้อีกราว -50bps เป็นอย่างน้อยในการประชุมที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินยูโรก็ยังสอดคล้องกับการย่อตัวลงบ้างของตลาดหุ้นยุโรปที่เผชิญแรงขายทำกำไรเพิ่มเติม หลังปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา และนอกเหนือปัจจัยดังกล่าว เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ที่ย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างลดโอกาสการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ ลงเหลือ 38% จาก 53% ในช่วงวันก่อนหน้า ซึ่งจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Apple +2.3%, Alphabet +1.2% นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนก็ช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นได้ดี อาทิ Exxon Mobil +1.2% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.42% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.98% กดดันโดยแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม China Recovery ที่ปรับตัวร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ LVMH -2.1% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มยานยนต์ หลัง Stellantis -14.7% และ Volkswagen -2.0% ต่างปรับลดคาดการณ์ผลกำไร   

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวในกรอบ sideways ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นบ้างสู่ระดับ 3.78% หลังประธานเฟด Jerome Powell ย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ราคาสินทรัพย์ในตลาดยังคงเผชิญความเสี่ยง Two-Way Volatility โดยจะมีการเคลื่อนไหวไปตามการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน อนึ่ง เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจับตาว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 3.80% ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เหนือโซนดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับไปแถว 3.90%-4.00% ได้ไม่ยาก โดยมีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเลือกทิศทางที่ชัดเจน หลังการรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกันยายน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ตามแรงขายทำกำไรหุ้นยุโรปและความหวังการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของ ECB ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ทว่า เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นไปได้มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 100.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.2-100.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามแรงซื้อในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนกันยายน และคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 โดย Atlanta Fed พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด 

ส่วนฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน เดือนกันยายน พร้อมจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทจะเริ่มมีกำลังมากขึ้น ทว่า เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะสามารถพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้อย่างชัดเจน หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ เช่น โซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ หรือ แม้กระทั่งโซนแนวต้านสำคัญ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวก็อาจเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ไม่ได้ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ล่าสุด 

อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดไปพอสมควรแล้ว (โอกาสเร่งลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ลดลงเหลือ 38%) ซึ่งอาจจำกัดการปรับตัวขึ้นต่อของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาตามคาด หรือ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ยกเว้นจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ของบรรดานักลงทุนต่างชาติ (ซึ่งก็ทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยจริงตามที่เราประเมินไว้) หรือเงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งราคาทองคำก็ยังเสี่ยงปรับตัวลดลงต่อได้บ้าง หากเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้นได้ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ได้ทวีความรุนแรงหรือลุกลาม บานปลาย

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งในฝั่งยุโรป (อัตราเงินเฟ้อ CPI ยูโรโซน) และฝั่งสหรัฐฯ (ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ และดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต) โดยเฉพาะ รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) สหรัฐฯ ซึ่งในช่วงหลังตลาดให้ความสำคัญกับรายงานข้อมูลดังกล่าวมากขึ้น จนทำให้เงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเกือบ +0.4% หลังรับรู้รายงานข้อมูล Job Openings ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแกว่งตัวของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยหลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าวราว +/-0.20% 

อนึ่ง เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 32.50 บาทต่อดอลลาร์นั้น ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued มากขึ้น (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +1.0 หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 32.00 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.25-32.65 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

บันทึกโดย : วันที่ : 01 ต.ค. 2567 เวลา : 10:29:57

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:24 am