ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (2 ต.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 ต.ค.67) ที่ระดับ  32.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.59 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 32.50-32.65 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่า เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น หลังอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น ก็มีส่วนหนุนให้ ราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา 

แม้ว่ารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด ทว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น โดยผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia -3.7%, Apple -2.9% อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวได้หนุนให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น และช่วยให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น อาทิ Exxon Mobil +2.3% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.93% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อ -0.38% หลังบรรยากาศในตลาดการเงินถูกกดดันจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเดินหน้าขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม China Recovery อย่าง LVMH -3.6%, BMW -1.8% ทว่าตลาดหุ้นยุโรปก็ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell +2.2% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ   

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวในกรอบ sideways แถวระดับ 3.73% โดยแม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทว่า บรรยากาศของตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ยาก ทั้งนี้ เรามองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจมีผลกระทบต่อตลาดการเงินเพียงในระยะสั้น ตราบใดที่ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้ลุกลามไปสู่การเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ที่ไม่ใช่เพียงการตอบโต้โดยการยิงขีปนาวุธหรือโดรน โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม เรามองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และควรเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ออกมาดีกว่าคาด และภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงินจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.0-101.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามความต้องการถือทองคำในช่วงตลาดกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย ADP ในเดือนกันยายน ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะใช้ประกอบการประเมินแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด 

ส่วนฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB  

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและลุกลาม บานปลาย จนส่งผลกระทบในวงกว้างหรือไม่ โดยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อโฟลว์การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานมากน้อยเพียงใด 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังพอมีกำลังอยู่ หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงบรรยากาศของตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวัน จนถึงระดับ 1-2 สัปดาห์ได้ โดยต้องจับตาท่าทีของทางการอิสราเอลในการตอบโต้ การโจมตีรอบล่าสุดจากทางอิหร่าน เพราะหากอิสราเอลตอบโต้กลับในลักษณะที่ไม่ต่างจากช่วงก่อนหน้า ก็อาจสะท้อนว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะไม่ได้ทวีความรุนแรงและลุกลาม บานปลายมากขึ้น อนึ่ง ในระยะสั้น ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะสั้น ซึ่งต้องระวังความเสี่ยงของการเกิด Short Squeeze หลังในช่วงที่ผ่านมาผู้เล่นในตลาดมีการสะสมสถานะ Net Short น้ำมันดิบไว้พอสมควร ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบในช่วงระยะสั้นก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ 

จากโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะสั้น รวมถึงมุมมองของเราที่คงเชื่อว่า ผู้เล่นในตลาดจะทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจกลับมาย่อตัวลงบ้าง หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางทยอยคลี่คลายลงได้ ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจผ่านจุดแข็งค่าสุดไปแล้วในระยะสั้น (Call Bottom USDTHB แถว 32.00 บาทต่อดอลลาร์) แต่เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะสามารถทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้จริง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 32.80 บาท ต่อดอลลาร์ และโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ซึ่งอาจจะต้องรอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ 

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ของสหรัฐฯ  ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้าง 

อนึ่ง เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 32.50 บาทต่อดอลลาร์นั้น ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued มากขึ้น (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +1.0 หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 32.00 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.65 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ต.ค. 2567 เวลา : 10:18:58

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:14 am