ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (4 ต.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 ต.ค.67) ที่ระดับ  33.12 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.14 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways  (กรอบการเคลื่อนไหว 33.08-33.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้จริงตามที่เราประเมินไว้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ  อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการในเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.9 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้แถวระดับ 51.7 จุด ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นานนัก และเงินบาทก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากอิสราเอลเปิดฉากโจมตีกลับอิหร่าน (ไม่ว่าจะเป็นคลังน้ำมันอิหร่าน หรือ โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านก็ตาม) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาศัยจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน (ดัชนีเงินดอลลาร์ หรือ DXY เข้าใกล้โซน 102 จุด) ในการทยอยปรับสถานะการถือครองหรือขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงระยะสั้นที่ผ่านมา ก่อนที่จะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ 

ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงกดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการจะออกมาดีกว่าคาดก็ตาม ทั้งนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น อาทิ Exxon Mobil +0.9% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.17% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.93% กดดันโดยความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าลดความเสี่ยงลง ทว่าความกังวลดังกล่าวยังคงหนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการทหารปรับตัวขึ้นต่อได้ อาทิ Shell +1.7%, Rolls Royce +2.8% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นทะลุแนวต้าน 3.80% ก่อนที่จะทรงตัวแถวระดับ 3.84% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็มีส่วนหนุนการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เช่นกัน อนึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้เพิ่มเติม โดยข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาตามคาด หรือดีกว่าคาด จะทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พร้อมที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ หากตลาดคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ในทางกลับกัน หากข้อมูลการจ้างงานออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงอาจกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มเติม กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงได้พอสมควร 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาด ทยอยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็ถูกจำกัดโดยการทยอยขายทำกำไรหรือการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานในวันศุกร์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 101.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.8-102.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถปรับตัวสูงขึ้นสู่โซน 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่จะทยอยออกมาให้ความเห็นในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงาน เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความคาดหวังอยู่บ้าง ว่า เฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมที่เหลือของปีนี้  

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและลุกลาม บานปลาย จนส่งผลกระทบในวงกว้างหรือไม่ โดยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง รวมถึงส่งผลกระทบต่อโฟลว์การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานมากน้อยเพียงใด 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ทว่า เงินบาทก็ยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของเราว่า “ตราบใดที่ราคาทองคำยังมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นได้ จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เงินบาทก็อาจไม่สามารถอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่องอย่างชัดเจน” ทั้งนี้ เรายังคงมีความมั่นใจอยู่ว่า เงินบาทจะมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ หากเงินบาทไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นจนหลุดโซนแนวรับ 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ จากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2010 เราพบว่า หากเกิดสัญญาณ Long USDTHB จากเครื่องมือเชิงเทคนิคัลอย่าง Supertrend (Kivanc Ozbilgic) ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว แรง จน RSI ของ USDTHB เข้าสู่โซน Oversold พบว่า เงินบาท (USDTHB) อาจอ่อนค่าต่อได้ราว +2% หรือมีโอกาสเห็นเงินบาทกลับไปแถว 33.25-33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หาก 1) บรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยอย่างที่เราประเมินไว้ ซึ่งล่าสุดนักลงทุนต่างชาติก็ขายสุทธิสินทรัพย์ไทยราว -6 พันล้านบาทในวันก่อนหน้า 2) ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดชัดเจน ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างข้อมูลการจ้างงานที่ออกมาตามคาด หรือ ดีกว่าคาด และ 3) ตลาดคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาทองคำกลับเข้าสู่ช่วงการปรับฐาน (Correction)  

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออกก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงเงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง เช่น เงินบาทอ่อนค่าเหนือโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ บรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียอาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบลดสถานะ Net Long บรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้ (มองสกุลเงินฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้น) 

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเฉพาะในส่วนของรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เพราะหากข้อมูลการจ้างงานออกมาน่าผิดหวังและแย่กว่าคาดชัดเจน เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ต่ำกว่า 1 แสนตำแหน่ง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงได้พอสมควร ส่วนราคาทองคำก็อาจปรับตัวขึ้นต่อและเงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร ซึ่งจากสถิติย้อนหลัง 1 ปี พบว่า เงินบาทมักจะแกว่งตัวราว +/-0.4% ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ 

เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ต.ค. 2567 เวลา : 10:53:46

05-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 5, 2024, 11:36 pm