ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้น"


 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.45 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.59 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการทยอยแข็งค่าขึ้น (กรอบการเคลื่อนไหว 33.41-33.66 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ออกมาที่ระดับ 2.4% และ 3.3% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อย อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นาน หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ต่างเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 258,000 ราย และ 1,861,000 ล้านราย แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ กอปรกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ ที่ต่างย้ำมุมมองเดิมพร้อมสนับสนุนการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด และไม่ได้แสดงความกังวลต่อรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกลับมาเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน รวมถึงกลับมาเชื่อว่าเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยได้มากขึ้นในปีหน้า ซึ่งการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวลดลง หนุนให้ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ  โดยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำก็มีส่วนหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา 

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ชะลอการเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาผสมผสาน (อัตราเงินเฟ้อ CPI สูงกว่าคาด แต่ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานแย่กว่าคาด) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.21%  

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลง -0.18% หลังผู้เล่นในตลาดชะลอการเข้าซื้อหุ้นธีม China Recovery เพื่อรอจับตาการแถลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในช่วงวันเสาร์นี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันบ้างตามการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ SAP -0.9%, ASML -0.6%  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 4.10% ก่อนที่จะทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.07% หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ก็สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี เรายังคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ต.ค. 2567 เวลา : 10:56:12

23-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 23, 2024, 2:18 pm