นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทโดยรวมยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.11-33.36 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งยังคงได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทว่าการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำก็เป็นไปอย่างจำกัด และราคาทองคำก็มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวของทั้งราคาทองคำและเงินดอลลาร์ดังกล่าว ก็มีส่วนทำให้เงินบาทไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและเริ่มกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ก่อนที่จะแกว่งตัวใกล้โซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ที่ดูจะเป็นโซนแนวต้านแรกในช่วงระยะสั้นได้
สัปดาห์ที่ผ่านมา การอ่อนค่าของเงินบาทนั้นถูกชะลอลงด้วย แรงขายเงินดอลลาร์จากผู้ส่งออก การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และจังหวะอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรรอติดตาม ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกันยายน รวมถึงข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ ธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML, TSMC รวมถึงหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน อย่าง BofA, Goldman Sachs เป็นต้น
ฝั่งยุโรป – ประเด็นสำคัญ คือ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราประเมินว่า ECB มีโอกาสลดดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) -25bps สู่ระดับ 3.25% พร้อมกันนั้น ECB อาจส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติมในปีนี้ ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจสะท้อนผ่านการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของทาง ECB ทั้งนี้ เรามองว่า ควรจับตาการส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนและทิศทางนโยบายของ ECB ผ่านถ้อยแถลงของประธาน ECB นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งข้อมูลการจ้างงานเดือนสิงหาคม อัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึงยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกันยายน
ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) ของจีน และรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนกันยายน และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์จีน (โดยเฉพาะตลาดหุ้นและค่าเงินหยวนจีน) ได้พอสมควรในช่วงนี้ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกันยายน และรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผ่านรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าเดือนกันยายนเช่นกัน ในส่วนนโยบายการเงิน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) มีโอกาสที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยลง -25bps สู่ระดับ 6.00% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของ BSP ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.00% เพื่อประเมินผลกระทบจากการลดดอกเบี้ย -25bps ในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้มีโอกาสที่ BI จะส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ ตามแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน ส่วนค่าเงินอินโดนีเซียรูเปียะห์ (IDR) ก็มีเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่มีจังหวะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จน BI ต้องขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปีนี้
ฝั่งไทย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเราประเมินว่า กนง. อาจมีมติ 6-1 หรือ 5-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ตามเดิม ทั้งนี้ เราจะจับตาการสื่อสารของทาง กนง. ว่ามีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากน้อยเพียงใด รวมถึง กนง. มีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจในเชิงแย่ลงหรือไม่ เพื่อประเมินโอกาสที่ กนง. จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งจะเร็วกว่าที่เราประเมินไว้ว่า การลดดอกเบี้ยครั้งแรกอาจเริ่มในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า นอกจากนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแรงขายสินทรัพย์ไทยดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงเช่นกัน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมั่นใจแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้แข็งค่าทะลุโซน 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาผลการประชุม กนง. ทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำกับน้ำมันดิบ) ทั้งนี้ เงินบาทอาจถูกกดดันจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอลงจากแรงขายเงินดอลลาร์และการปรับสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) ของผู้เล่นในตลาด ในช่วงนี้ได้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาที่ดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะ “คง” ดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินยูโร หาก ECB ลดดอกเบี้ยตามคาดและส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากบรรยากาศในตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน (Risk-On) ก็อาจช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00-33.65 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.45 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น