ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (18 ต.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง ที่ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (18 ต.ค.67) ที่ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.23 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 33.15-33.27 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ (ยอดค้าปลีกและยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน) ที่ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง รวมถึงการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าลดดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) –25bps สู่ระดับ 3.25% ตามที่ตลาดคาด และแม้ ECB จะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในอนาคต พร้อมย้ำจุดยืน “Data Dependent” ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB มีโอกาสราว 52% ที่จะต้องเร่งลดดอกเบี้ยถึง -50bps ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงต่อเนื่อง (โดยเฉพาะเศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศส) ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอลงเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อ่อนค่าลงทะลุระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลง หลังราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ได้ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ 

ราคาหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผสมผสานพอสมควร โดยบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor รีบาวด์ขึ้นบ้าง อาทิ Nvidia +0.9% หลัง TSMC รายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส เช่น Blackstone +6.3% ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดูจะถูกกดดันจากการย่อตัวลงบ้างของบรรดาหุ้นเทคฯ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.02% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.83% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส อาทิ Nordea +6.3%, Nestle +2.5% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังการเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังล่าสุด ECB ได้ลดดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) -25bps สู่ระดับ 3.25%  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้โซน 4.10% อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยกลับมาเก็งกำไร Trump Trades มากขึ้น ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดพนันที่เพิ่มโอกาสโดนัลด์ ทรัมป์อาจคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (จาก Polymarket โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะสูงถึง 62%) อนึ่ง เราคงมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในบอนด์ระยะยาว ตามแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่และบอนด์ยีลด์ที่อยู่ในระดับสูงพอสมควร เมื่อเทียบกับอดีต ทว่า เราขอเน้นย้ำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่ ECB อาจเร่งลดดอกเบี้ย –50bps ในการประชุมเดือนธันวาคม ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อ่อนค่าลงทะลุโซน 150 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์บ้าง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 103.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.4-103.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่าราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ อีกทั้ง ราคาทองคำยังได้แรงหนุนจากบรรดาผู้เล่นสไตล์ momentum และ trend following หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุจุดสูงสุดก่อนหน้า หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์แถว 2,700-2,710 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนของจีน อาทิ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกันยายน รวมถึง รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ซึ่งรายงานข้อมูลดังกล่าว จะช่วยให้ผู้เล่นในตลาดประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้ และหากข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาสดใส หรือ ดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะช่วยให้ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ส่วนเงินหยวน (CNY) ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นเช่นกัน 

ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ในเดือนกันยายน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยเพิ่มความคาดหวังการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องของ BOE (อาจลดดอกเบี้ยราว -40bps ในอีกสองการประชุมที่เหลือในปีนี้)

ส่วนทางฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways 33.05-33.30 บาทต่อดอลลาร์ เพราะถึงแม้ว่า เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก ทว่า เงินบาทก็ยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ 

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นมานั้น นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยขายสินทรัพย์ไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจเป็นการขายทำกำไร อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำยังปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง หรือ อย่างน้อยก็แกว่งตัว sideways นอกจากนี้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 9.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น ก็อาจช่วยหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อบรรดาสกุลเงินเอเชียได้ 

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.30 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ต.ค. 2567 เวลา : 10:38:02

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:14 am