ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (27 พ.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ระดับ 34.72 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 พ.ย.67)ที่ระดับ  34.72 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.67 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.59-34.77 บาทต่อดอลลาร์) โดยทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทนั้น ก็เป็นไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ที่มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังคงสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของภาคการบริการที่ขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD รวมถึงการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่แข็งค่าหลุดโซน 153 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจได้รับอานิสงส์จากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดกังวลแนวโน้มสงครามการค้า หลังว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีน เม็กซิโก และแคนาดา นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว เผชิญแรงกดดันจากข่าวอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah ซึ่งอาจนำไปสู่การเจรจาหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่ม Hamas และลดความขัดแย้งในตะวันออกกลางลงได้ 

แม้ว่าในช่วงแรกของการซื้อ-ขาย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะถูกกดดันบ้างจากการประกาศเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เม็กซิโกและแคนาดา โดยว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า หากมีการขึ้นภาษีนำเข้าจริงก็น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าจากจีน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon +3.2%, Microsoft +2.2% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.57% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงกว่า -0.57% ท่ามกลางความกังวลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมของยุโรป หากสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีน เม็กซิโกและแคนาดา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มยานยนต์ปรับตัวลงหนัก อาทิ Stellantis -4.8% นอกจากนี้ การปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah ก็มีส่วนกดดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงานยุโรป อาทิ TotalEnergies -1.7% 

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวแถวโซน 4.30% โดยมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการ ยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใส อีกทั้งรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ก็สะท้อนว่า เฟดมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากนัก เหมือนในช่วงก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยแม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงโดยแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึง การรีบาวด์ของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่แข็งค่าหลุดโซน 153 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 106.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.5-107.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะทยอยรีบาวด์ขึ้นบ้าง แต่การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำก็ถูกชะลอลง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจากข่าวอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah อย่างไรก็ดี การย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังพอช่วยพยุงราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ให้สามารถแกว่งตัวแถวโซน 2,650-2,660 ดอลลาร์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนตุลาคม รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) 

ส่วนในฝั่งเอเชีย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจลดดอกเบี้ยนโยบาย 50bps สู่ระดับ 4.25% ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อที่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1%-3% ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจดูสงบลงได้บ้างในช่วงนี้ หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินบาทก็อาจยังติดอยู่แถวโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Short THB รวมถึงแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนจากราคาทองคำ ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งหากปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก็อาจกดดันเงินบาทเพิ่มเติมผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวในช่วงราคาปรับฐานได้ นอกจากนี้ ในระยะสั้น เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากความกังวลมาตรการกีดกันทางการค้าในรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งอาจพุ่งเป้ามายังจีน กดดันให้เงินหยวนจีน (CNY) ยังมีจังหวะโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง 

ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นบ้าง ในจังหวะที่เงินดอลลาร์ย่อตัว ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD หรือผู้เล่นในตลาดอาจปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด เช่น เริ่มทยอยเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจติดแถวโซนแนวรับ 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงปลายเดือน ทำให้บรรดาผู้นำเข้าอาจทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ได้ 

อย่างไรก็ตาม ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ PCE และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.85 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 พ.ย. 2567 เวลา : 10:31:24

05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:33 am