ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (2 ธ.ค.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 ธ.ค.67) ที่ระดับ  34.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.30 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 34.24-34.39 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์ขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงเช้าของวันจันทร์นี้ หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงกลับสู่โซน 150 เยนต่อดอลลาร์ จากที่ในช่วงก่อนหน้าได้แข็งค่าทดสอบโซน 149.50 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำ (XAUUSD) ก็เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ทำให้ราคาทองคำย่อตัวลงเข้าใกล้โซน 2,640-2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (คิดเป็นการปรับตัวลงราว -20 ดอลลลาร์ต่อออนซ์) เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงบ้าง

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็ถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็เพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนธันวาคม 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ทว่าเงินบาทก็เผชิญแรงกดดันบ้าง ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ตามข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่ม Hezbollah นอกจากนี้ เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากบรรดาผู้เล่นในตลาด อย่าง ผู้นำเข้า (Importers)  

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความเสี่ยงที่เงินบาทอาจผันผวนในกรอบกว้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด และ BOJ

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจนโยบายการเงินของเฟด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (ISM Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 65% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25%-4.50% ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ 

* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และ BOE รวมถึงรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน ในเดือนตุลาคม 

* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Caixin Manufacturing and Services PMIs) ของจีน ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง มากกว่าจะเน้นบริษัทขนาดใหญ่เหมือนดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ทางการจีนจัดทำขึ้นและได้รายงานก่อนหน้า ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Labor Cash Earnings) ในเดือนตุลาคม ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ โดยผู้เล่นในตลาดอาจมั่นใจมากขึ้นว่า BOJ มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ หรืออย่างน้อยก็ช่วงต้นปี 2025 หากอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับสูงและหนุนให้ BOJ อาจบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืนได้ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของเวียดนาม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดการส่งออก-นำเข้า (Exports & Imports) เป็นต้น ในส่วนนโยบายการเงิน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.50% หลังอัตราเงินเฟ้อได้เร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม จนล่าสุดสูงกว่ากรอบเป้าหมาย 2%-6% ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า RBI อาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ตามแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่จะพลิกกลับมาชะลอลงสู่กรอบเป้าหมายได้

* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤศจิกายน ซึ่งเราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI อาจสูงขึ้นสู่ระดับ 1.08% ตามผลของฐานราคาสินค้าและบริการปีก่อนหน้าที่อยู่ในระยะต่ำ โดยเฉพาะในส่วนของราคาน้ำมัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจทรงตัวแถวระดับ 0.7%-0.8% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่อาจเกิดขึ้นได้ 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนในกรอบกว้าง โดยจะขึ้นกับทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ ที่จะผันผวนไปตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ ควรจับตาการเคลื่อนไหวของเงินหยวนจีน (CNY) ที่อาจพอได้แรงหนุนบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาสดใส และควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราคาดว่าบรรดานักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยได้ 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดโอกาสที่เฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม อย่างไรก็ดี ทิศทางเงินดอลลาร์ก็อาจขึ้นกับการเคลื่อนไหวของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งจะขึ้นกับการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ย BOJ โดยเงินเยนญี่ปุ่นอาจแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้ ในกรณีที่ ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า BOJ จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ หากอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับสูงเช่น +2.6%y/y ขึ้นไป 

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.85-34.85 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.55 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ธ.ค. 2567 เวลา : 09:53:06

02-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 2, 2024, 11:38 pm