ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (4 ธ.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 ธ.ค.67) ที่ระดับ  34.36 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.43 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 34.32-34.48 บาทต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง โดยเฉพาะในช่วงเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลงของราคาทองคำ หลังรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) ของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.744 ล้านตำแหน่ง ดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้ราว 7.5 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงด้วยแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ของบรรดาผู้เล่นในตลาด และการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ที่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นทะลุระดับ 1.05 ดอลลาร์ต่อยูโร ได้ หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศสอาจใกล้คลี่คลายลงได้ โดยนายกฯ Michel Barnier อาจพ่ายแพ้ในการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ (No-Confidence Vote) ที่ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างตามโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้ส่งออกในช่วงนี้
  
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่รีบเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นชัดเจน เพื่อรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงาน รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Meta +3.5%, Amazon +1.3% ขณะที่ Tesla -1.6% จากรายงานยอดขายในจีนที่ยังคงลดลง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.40% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.05% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.37% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML +2.1%, Hermes +1.3% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงมั่นใจว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้พอสมควร อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอติดตามสถานการณ์การเมืองของฝรั่งเศส 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร โดยมีทั้งจังหวะปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 4.20% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวแถวระดับ 4.23% หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุด (Job Openings) นั้นออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงนี้ ต่างก็ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงให้โอกาสราว 74% ที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ เรามองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ก็อาจเป็นจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) บอนด์ระยะยาว เนื่องจาก Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศสอาจใกล้คลี่คลายลงบ้าง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงถูกกดดันจากการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถวโซน 106.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.0-106.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงภาพรวมของตลาดการเงินที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ และยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,660 ดอลลาร์ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) และยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้ อนึ่ง ถ้อยแถลงของประธานเฟดและรายงาน Fed Beige Book จะทยอยรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการของจีน ในเดือนพฤศจิกายน เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่รายงานก่อนหน้านั้น ออกมาดีกว่าคาด 

และในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยในเดือนพฤศจิกายน อาจปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 1.08% (แทบไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า) ตามอานิสงส์ของฐานราคาสินค้าและบริการในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในส่วนของราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจทรงตัวแถวระดับ 0.7%-0.8% 
 
นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส โดยหากความวุ่นวายเริ่มคลี่คลายลงบ้าง ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินยูโร (EUR) ในระยะสั้นนี้ 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้ แต่เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ก็ยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง ตราบใดที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด หรือ สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใส (ทำให้ธีม US Exceptionalism ยังคงอยู่) นอกจากนี้ ราคาทองคำก็ยังขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน ทำให้ราคาทองคำก็ดูจะยังคงอยู่ในภาวะปรับฐาน (Correction) ไปก่อน อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก (ซึ่งเราประเมินว่า น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้) รวมถึงการทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ ตามที่เราประเมินไว้ โดยรวมเงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways ไปก่อน เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ และมีโซนแนวรับแถว 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านอาจอยู่ในช่วง 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์  

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ รวมถึงยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาทสามารถแกว่งตัวเกือบ +/-0.2% ได้ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว  

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.55 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ธ.ค. 2567 เวลา : 10:23:23

05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 2:48 am