ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (16 ธ.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.10 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 ธ.ค.67) ที่ระดับ  34.10 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.14 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.06-34.18 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ทว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ ในลักษณะ Sideways Down รวมถึงแรงขายเงินดอลลาร์ในช่วงใกล้โซนแนวต้าน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้บ้าง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจน จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลาง ทั้ง เฟด, BOE, BOJ และธนาคารแห่งประเทศไทย ในสัปดาห์นี้ 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงแรงของราคาทองคำ และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทว่าเงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากแรงขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาด อย่าง กลุ่มผู้ส่งออก

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ตลาดการเงินเสี่ยงผันผวนสูง ท่ามกลางผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟด BOE และ BOJ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก อย่าง รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งเราคาดว่า เฟดจะลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25%-4.50% ทว่า เฟดอาจส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ย ผ่านคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Dot Plot) ใหม่ที่อาจสะท้อนว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลงราว 3-4 ครั้งในปีหน้า และเฟดอาจจบรอบการลดดอกเบี้ย (Terminal Rate) ที่ระดับสูงกว่าราว 3.00% ที่เฟดได้ประเมินไว้ในการประชุมเดือนกันยายน สอดคล้องกับการปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ (Summary of Economic Projections หรือ SEP) ที่อาจดีขึ้นเมื่อเทียบกับ SEP ในการประชุมเดือนกันยายน และนอกเหนือจากคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) เดือนธันวาคม ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และอัตราเงินเฟ้อ PCE (ที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด) ในเดือนพฤศจิกายน 

* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราคาดว่า BOE อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.75% ทว่า BOE อาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปี 2025 (เราคาดว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยราว 4 ครั้ง หรือ 100bps ในปีหน้า) ตามแนวโน้มการทยอยกลับสู่เป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันภาพรวมเศรษฐกิจอังกฤษก็มีแนวโน้มชะลอลง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาพเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนธันวาคม  รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนพฤศจิกายน และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานในเดือนตุลาคม ส่วนทางฝั่งยูโรโซน ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมทั้งรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ

* ฝั่งเอเชีย – ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เราคาดว่า BOJ จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.25% ตามเดิม ทว่าควรจับตาอย่างใกล้ชิดถึงการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ BOJ ในปีหน้า หลังล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า BOJ จะสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าสู่ระดับ 0.50% และอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 0.75% ในปี 2025 เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ที่เราคาดว่า BI จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.00% เพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินอินโดนีเซียรูเปียะห์ (IDR) แม้ว่าโดยรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงบ้าง ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ชะลอลงและอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1.5%-3.5% ขณะที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) นั้น เราคาดว่า BSP อาจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 5.75% หลังอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2%-4% อีกทั้งในช่วงหลัง เงินฟิลิปปินส์เปโซ (PHP) ก็ไม่ได้อ่อนค่าลงหนัก ท่ามกลางแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ในเดือนธันวาคม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของ BOJ

* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราประเมินว่า กนง. อาจมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.25% ทว่าอาจมีการส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในกรณีที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้มาก สำหรับแนวโน้มเงินบาทนั้น หากประเมินในเชิงเทคนิคัล โดยใช้กลยุทธ์ Trend-Following เราจะยังคงมั่นในว่า เงินบาทอาจทยอยแข็งค่าขึ้นได้ หรือแกว่งตัว Sideways ตราบใดที่เงินบาท (USDTHB) ไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทผันผวนสูงในกรอบ Sideways ทว่าทิศทางเงินบาทจะขึ้นกับการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ ที่จะขึ้นกับผลการประชุมเฟดและบรรดาธนาคารกลางหลัก ส่วนผลการประชุม กนง. อาจไม่ได้กระทบเงินบาทมากนัก ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังคงกดดันเงินบาทได้ เนื่องจากเราคาดว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยได้บ้าง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์จะขึ้นกับ คาดการณ์ดอกเบี้ยใหม่ (Dot Plot) ของเฟด รวมถึงผลการประชุม BOJ และ BOE ซึ่งหาก BOJ ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจน อาจหนุนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นบ้าง กดดันเงินดอลลาร์ให้ย่อตัวลง

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.75-34.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.30 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานดัชนี PMI ของประเทศเศรษฐกิจหลัก และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ธ.ค. 2567 เวลา : 10:20:03

22-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 22, 2024, 6:13 pm