ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ธ.ค..67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ธ.ค..67)ที่ระดับ  34.07 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ  34.05 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.03-34.12 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันบ้าง ตามการทยอยปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่โซน 2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ออกมาผสมผสาน โดยมีเพียงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย S&P Global (Services PMI) ในเดือนธันวาคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.5 จุด ดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนธันวาคม กลับปรับตัวลดลงสู่ระดับ 48.3 จุด แย่กว่าคาด เช่นเดียวกันกับดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขานิวยอร์ก (NY Empire Manufacturing) ก็ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 0.2 จุด แย่กว่าคาดไปมาก สะท้อนภาวะหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตสหรัฐฯ 

แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาผสมผสาน ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ Broadcom +11.2%, Alphabet +3.6% รวมถึงการปรับตัวขึ้นของ Tesla +6.1% ที่ได้อานิสงส์จากการปรับเป้าราคาหุ้นจากบรรดานักวิเคราะห์ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันบ้างจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่ม Healthcare ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.24% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.38% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.12% กดดันโดยแรงขายหุ้นฝรั่งเศส หลัง Moody’s หั่นเครดิตเรทติ้งของฝรั่งเศสลงจาก Aa2 เป็น Aa3 นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนรายเดือนล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด โดยเฉพาะยอดค้าปลีก ก็ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มยานยนต์และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมยุโรปออกมา อาทิ Ferrari -2.6%, LVMH -1.2%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาผสมผสาน ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 4.40% ท่ามกลาง มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดจะชะลอการลดดอกเบี้ยในปี 2025 โดยเฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง หรือ 50bps หลังเฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25%-4.50% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้  ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อไปมาก หากคาดการณ์ของเราต่อ Dot Plot ใหม่ของเฟด ที่คงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินอยู่บ้าง (เช่น เฟดอาจลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2025 และอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2-3 ครั้ง ใน ปี 2026 จบรอบการลดดอกเบี้ย) นั้นถูกต้อง ทำให้เราขอเน้นย้ำว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ก็ถือว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่เข้าทางกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเรา เนื่องจากเราคงประเมินว่า Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาผสมผสาน ทว่าเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่โซน 106.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.7-107.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำของผู้เล่นในตลาด ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ปรับตัวลดลง สู่โซน 2,660-2,670 ดอลลาร์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยเฉพาะในส่วนอัตราการเติบโตของค่าจ้าง 

ส่วนในฝั่งยูโรโซน ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนธันวาคม   

และในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤศจิกายน รวมถึงคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโดยเฟดสาขา Atlanta (GDPNow) สำหรับไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะรับรู้ในช่วง 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันพุธที่ 18 ธันวาคม 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ไปก่อนในช่วง 34.00-34.20 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่าง ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลาง โดยเฉพาะ ผลการประชุม FOMC ของเฟดในวันพฤหัสฯ 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม นอกจากนี้ หากเงินหยวนจีน (CNY) ยังคงทยอยอ่อนค่าลงต่อ หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ก็อาจกดดันบรรดาสกุลเงินเอเชียเพิ่มเติมได้ ทว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นจากโซนแนวรับระยะสั้น 

อนึ่ง เราขอแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเตรียมรับมือความผันผวนในตลาด ที่อาจสูงขึ้นในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.20 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ธ.ค. 2567 เวลา : 10:43:11

22-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 22, 2024, 6:02 pm