ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (18 ธ.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (18 ธ.ค.67) ที่ระดับ  34.19 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ  34.24 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 34.15-34.28 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากเผชิญแรงขายหนักในช่วงวันก่อนหน้า โดยราคาทองคำ รวมถึงเงินบาทก็ได้แรงหนุนตามจังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ  หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นว่า เฟดจะส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าอย่างไร โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มมีมุมมองว่า เฟดอาจส่งสัญญาณผ่านคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ใหม่ ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ยังคงเห็นแรงซื้อบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น และแรงขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์อยู่ นอกจากนี้ แม้ว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน จะขยายตัว +0.7% จากเดือนก่อนหน้า ดีกว่าคาดเล็กน้อย ทว่ายอดผลผลิตอุตสหากรรม (Industrial Production) เดือนพฤศจิกายน กลับหดตัวต่อเนื่อง -0.1%m/m แย่กว่าคาดพอสมควร ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าวก็มีส่วนชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ Broadcom -3.9%, Nvidia -1.2% เพื่อรอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของ Tesla +3.6% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.39% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.42% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน อาทิ Santander -4.5% ขณะเดียวกัน ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ที่อาจกดดันความต้องการใช้น้ำมัน ก็ส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ อาทิ Shell -1.8% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างตามการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมที่เผชิญแรงขายพอสมควรในช่วงก่อนหน้า

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มมองว่า เฟดอาจส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ อีกทั้งรายงานข้อมูลสหรัฐฯ ก็มาออกมาผสมผสาน ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เริ่มทยอยปรับลดลงสู่ระดับ 4.40% หลังจากที่มีจังหวะปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 4.45% ทั้งนี้ เนื่องจากเราคงมองว่า เฟดอาจส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินอยู่บ้าง (เช่น เฟดอาจลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2025 และอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2-3 ครั้ง ใน ปี 2026 จบรอบการลดดอกเบี้ย) ทำให้เราขอเน้นย้ำว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ก็ถือว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่เข้าทางกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเรา เนื่องจากเราคงประเมินว่า Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่าเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่โซน 106.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.7-107.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ทยอยรีบาวด์ขึ้น สู่โซน 2,660ดอลลาร์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกันกับในฝั่งยูโรโซน ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนพฤศจิกายน เช่นกัน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) 

ส่วนในฝั่งเอเชีย เราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.25% (มติอาจไม่เป็นเอกฉันท์ได้) เพื่อคงนโยบายการเงินที่เป็นกลาง ให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.00% เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมากขึ้นก็ตาม 

และในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งจะรับรู้ในช่วงราว 02.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันพฤหัสฯ นี้ โดยเรามองว่า เฟดจะลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25%-4.50% ทว่า เฟดอาจส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ย ผ่านคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Dot Plot) ใหม่ที่อาจสะท้อนว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลงราว 3-4 ครั้งในปีหน้า และเฟดอาจจบรอบการลดดอกเบี้ย (Terminal Rate) ที่ระดับสูงกว่าราว 3.00% ที่เฟดได้ประเมินไว้ในการประชุมเดือนกันยายน สอดคล้องกับการปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ (Summary of Economic Projections หรือ SEP) ที่อาจดีขึ้นเมื่อเทียบกับ SEP ในการประชุมเดือนกันยายน และนอกเหนือจากคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ใกล้โซน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น ทั้งผลการประชุม กนง. ของไทย รวมถึง ผลการประชุม FOMC ของเฟดในวันพฤหัสฯ นี้ 

โดยในช่วงระหว่างวัน เราประเมินว่า เงินบาทอาจมีโซนแนวต้านแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับอาจขยับขึ้นมาแถว 34.10-34.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ทว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าดังกล่าวก็อาจถูกชะลอลงบ้าง ในกรณีที่ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องได้ 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ รวมถึงผลการประชุม กนง. ของไทย โดยหากอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษชะลอลงชัดเจนและออกมาต่ำกว่าคาด ก็อาจเพิ่มความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ BOE กดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงได้ ส่วนผลการประชุม กนง. นั้น แม้ว่าเรามองว่าอาจเป็น Non-Event ที่อาจไม่ได้กระทบต่อตลาดการเงิน แต่หาก กนง. มีมติลดดอกเบี้ยสวนทางกับที่เราประเมินไว้ พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงกว่าที่เราประเมินไว้ได้ 

ส่วนในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดและถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference โดยเราคงมุมมองเดิมว่า หากเฟดและประธานเฟด ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง หนุนทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ แต่หากเฟดปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ สอดคล้องกับสิ่งที่ตลาดคาดหวัง ก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.40 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม กนง. ของไทย และ FOMC )

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ธ.ค. 2567 เวลา : 10:38:45

22-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 22, 2024, 6:34 pm