ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 ธ.ค.67) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 ธ.ค.67) ที่ระดับ  34.58 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ  34.21 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.18-34.62 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25%-4.50% ตามคาด ทว่า เฟดได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปี 2025 ลง จากเดิมที่เฟดเคยประเมินไว้ว่าอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง (-100bps) เหลือเพียง 2 ครั้ง (-50bps) ใกล้เคียงกับที่ตลาดได้คาดหวังก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง press conference ได้ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ หากคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงหนักกว่า -2.3% ของราคาทองคำ (XAUUSD) ซึ่งถูกกดดันจากทั้งการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ 

บรรยกาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้พอสมควร ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Tesla -8.3%, Amazon -4.6%, Microsoft -3.8% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -3.56% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.95% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.15% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ ธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML +2.0% และการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินที่เผชิญแรงขายหนักในวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดหุ้นยุโรปต่างระมัดระวังตัวมากขึ้น ก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมเฟด ซึ่งจะมาหลังตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการไปแล้ว 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าเฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดประเมินไว้ ทว่า Dot Plot ใหม่ของเฟดที่สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีหน้า กอปรกับถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง press conference ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ล่าสุด หากคำนึงถึงผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% อย่างไรก็ดี แม้ว่า คาดการณ์ของเราต่อ Dot Plot ใหม่จะผิดไป แต่เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (ที่ดูจะเป็นการ Overreact ไปบ้างในมุมมองของเรา) ยังคงทำให้ Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่ และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถดำเนินกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเราได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นชัดเจน หลังเฟดส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ย เหลือเพียง 2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งแนวโน้มการชะลอลดดอกเบี้ยดังกล่าวของเฟด ที่ดูจะสวนทางกับบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง BOE และ ECB ก็กดดันให้ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ต่างอ่อนค่าลงหนัก เช่นเดียวกันกับเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี ของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 108.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.7-107.1 จุด) ทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ดิ่งลงหนักกว่า -2.3% สู่โซน 2,600-2,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ ราคาทองคำยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการเร่งขายทำกำไรของบรรดาผู้เล่นในตลาดเพื่อ Lock Profits ในฝั่งสถานะ Long ที่ได้มาในปีนี้  

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมของสองธนาคารกลางหลัก ซึ่งจะเริ่มจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 10.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย (Press Conference ในช่วงราว 13.30 น.) โดยเราคาดว่า BOJ อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.25% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทว่า BOJ อาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีหน้า ตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ถัดมาในช่วงราว 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยแม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เราจะประเมินว่า BOE อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.75% หลังอัตราเงินเฟ้ออังกฤษเริ่มชะลอตัวลงช้า ขณะที่อัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ ทำให้ BOE อาจยังมีความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้ออังกฤษอยู่บ้าง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาการส่งสัญญาณของ BOE ต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีหน้า  

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และรอติดตามรายงานข้อมูลภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ อาทิ Philadelphia Fed 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทได้อ่อนค่าลงมากกว่าโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้พอสมควร หลัง Dot Plot ใหม่ของเฟด สะท้อนการลดดอกเบี้ยในปี 2025 ที่น้อยกว่าที่เราประเมินไว้ นอกจากนี้ เงินบาทยังทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ ทำให้เมื่อประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following เราต้องยอมรับว่า เงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลงได้ หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทมีโอกาสจบสิ้นปีนี้ ในระดับที่อ่อนค่ากว่าที่เราประเมินไว้ (33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์) ได้พอสมควร 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทเสี่ยงเคลื่อนไหวลักษณะ Two-Way (อ่อนค่าลงต่อ หรือ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง) ซึ่งจะขึ้นกับผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลักที่เหลือในวันนี้ ทั้ง BOJ และ BOE โดยในกรณีที่ BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย (Hawkish Hold) ก็อาจช่วยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทลง ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ หรือในกรณีที่ BOJ เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ย (โอกาสน้อยมาก) ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง กดดันเงินดอลลาร์ได้พอสมควร ในทางกลับกัน หาก BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด แต่กลับไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เรามองว่า เงินเยนญี่ปุ่นเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อทดสอบ โซน 156 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ส่วนผลการประชุม BOE นั้น เรามองว่า ต้องระวังกรณีที่ BOE แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และส่งสัญญาณว่าอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ราว 2 ครั้ง ซึ่งในภาพดังกล่าวอาจยิ่งกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงเพิ่มเติมได้ หนุนให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง 

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาททะลุโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่แถว 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.75 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม BOJ และ BOE)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ธ.ค. 2567 เวลา : 10:59:30

21-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 21, 2024, 4:50 pm