นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 ธ.ค.67) ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.16 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.08-34.20 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางปริมาณการทำธุรกรรมต่างๆ ในตลาดการเงินที่เบาบางลง หลังตลาดการเงินหลักได้ปิดทำการเนื่องในวันหยุดเทศกาล Christmas นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมก่อนที่จะปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก อย่าง ข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะทยอยประกาศในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม หลังผ่านช่วงวันหยุดยาว New Year 2025 ไปแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุดเทศกาล Christmas ทั้งนี้ ในช่วงเช้าของวันนี้ สัญญาฟิวเจอร์สของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มการขายทำกำไรหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีได้บ้าง หลังตลอดทั้งปีนี้ หุ้นสหรัฐฯ ทำผลงานได้โดดเด่น (ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า +28%)
ทางด้านตลาดค่าเงิน บรรดาสกุลเงินหลักยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ท่ามกลางปริมาณการทำธุรกรรมที่เบาบางลงในช่วงวันหยุดเทศกาล Christmas อนึ่ง ในช่วงเช้าวันนี้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ซึ่งหากเงินเยนญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยแกว่งตัวในกรอบ Sideways ก็อาจช่วยจำกัดการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ได้ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ก็อาจยังคงแกว่งตัวแถวโซน 108 จุด ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าปริมาณการทำธุรกรรมจะเบาบางลงในช่วงคืนที่ผ่านมา ทว่าในช่วงเช้าวันนี้นั้น ราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวสูงขึ้นบ้างสู่โซน 2,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ยังไม่มีการเคลื่อนไหวมากนัก และราคาโดยรวมยังคงอยู่ในกรอบโซน 2,630-2ม640 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นต่อเนื่องชัดเจนได้ยาก ท่ามกลางแรงขายทำกำไรสถานะ Long ทองคำ ของผู้เล่นในตลาด หลังทองคำก็เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ทำผลตอบแทนได้โดดเด่นในปีนี้ถึง +27%
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่ฝั่งสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประกอบการประเมินภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าวในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย
ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว รายงานข้อมูลตลาดแรงงาน ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 6.30-6.50 น. ตามเวลาประเทศไทยในช่วงเช้าของวันศุกร์นี้ ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า BOJ มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยราว +41bps ในปี 2025 หรือกล่าวได้ว่า ผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า BOJ จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ +25bps ได้แน่นอนในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ทว่ายังไม่มั่นใจนักว่า BOJ จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก +25bps ได้หรือไม่
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทว่าโซนแนวรับเงินบาทอาจขยับมาแถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านอาจยังคงอยู่แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า หากราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways และไม่ได้ปรับตัวลดลงชัดเจน ก็จะพอช่วยหนุนเงินบาทได้บ้าง เช่นเดียวกันกับในฝั่งบรรดาสกุลเงินเอเชีย อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่หากยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หรือแกว่งตัว Sideways ก็อาจช่วยจำกัดการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ และช่วยหนุนเงินบาทได้เช่นกัน นอกจากนี้ ควรรอจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้นได้ หลังผ่านช่วงวันหยุดเทศกาล Christmas (ทั้งนี้ วันนี้ยังคงเป็นวันหยุดทางฝั่งยุโรป รวมถึงออสเตรเลีย เนื่องในวัน Boxing Day ทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดการเงินก็อาจเบาบางกว่าช่วงปกติได้เช่นกัน) โดยเรามองว่า ยังมีโอกาสเห็นบรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) หากมีการรายงานข้อมูลที่แย่กว่าคาด หรือดีกว่าคาดชัดเจน (เรามองว่าโอกาสเกิดกรณีดังกล่าวนั้น “ต่ำ”) รวมถึงควรรอจับตาทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่นในช่วงเช้าวันศุกร์นี้ เพราะหากบรรดาข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่นมีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง หรืออย่างน้อยก็ทรงตัว Sideways แต่หากออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อได้ไม่ยาก
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.30 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น