ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (9 ม.ค.68) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ม.ค.68) ที่ระดับ  34.65 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ  34.64 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.60-34.73 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดนั้น เงินบาทได้อ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.70 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 109 จุด อีกครั้ง ท่ามกลางการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่อาจใช้กฎหมายอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Emergency Powers Act หรือ IEEPA) ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศต่างๆ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ ตามแรงกดดันจากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลอังกฤษ ก็ยิ่งเร่งแรงขายสินทรัพย์อังกฤษ ทั้งหุ้นและบอนด์เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ยังคงออกมาดีกว่าคาด ทว่า ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP กลับปรับตัวลดลง แย่กว่าคาดพอสมควร อีกทั้ง เจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller (FOMC Voter) ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า เฟดยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ตามการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่ล่าสุดมีข่าวว่า ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจใช้กฎหมายอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Emergency Powers Act หรือ IEEPA) ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศต่างๆ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.16%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.19% กดดันโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วยุโรป ที่ส่งผลให้บรรดาหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ก็มีส่วนกดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นยุโรปด้วยเช่นกัน ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นบริษัทยายักษใหญ่ Novo Nordisk +2.8% หลังนักวิเคราะห์ปรับคำแนะนำลงทุนเป็น “ซื้อ” 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.70% ตามความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่อาจทำให้เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน  Dot Plot อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่คงมองว่า เฟดยังสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน และบรรยากาศระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ก็ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 4.68%-4.69% เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ หากบอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้นบ้าง เนื่องจากผลตอบแทนรวม (Total Return) ของการถือบอนด์ระยะยาวนั้น ยังมีความน่าสนใจอยู่ ตราบใดที่เฟดไม่ได้กลับมาขึ้นดอกเบี้ย และคาดการณ์ของเราที่มองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ นั้นถูกต้อง 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงหนักของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ท่ามกลางความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ก่อนที่เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงกดดันจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสานและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งมองว่า เฟดยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่โซน 109 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 108.8-109.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,670-2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากทางฝั่งจีน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ในเดือนธันวาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

นอกจากนี้ ในฝั่งยุโรป รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤศจิกายน ก็จะอยู่ในความสนใจของผู้เล่นในตลาดด้วยเช่นกัน หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน และคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 4 ครั้ง หรือ มากกว่า 100bps ในปีนี้    

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ในช่วงเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 10 มกราคม เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ก่อนที่จะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วง 20.30 น. ของวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเริ่มแกว่งตัว Sideways โดยมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.70 บาทต่อดอลลาร์ และโซนแนวรับแรกในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในช่วงระหว่างวันนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบของผู้เล่นในตลาด หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงหนัก ในช่วงคืนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดอาจส่งผลให้ บรรดานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ทั้งนี้ เรามองว่า ควรจับตาการเคลื่อนไหวของราคาทองคำด้วยเช่นกัน เพราะหากราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท แต่หากราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก็จะยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของเงินหยวนจีน (CNY) ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน เนื่องจากในช่วงนี้ ความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ยังคงเป็นปัจจัยกดดันเงินหยวนจีนและตลาดการเงินจีน ทำให้หากเงินหยวนจีนจะชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง ต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ว่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนได้หรือไม่ 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ม.ค. 2568 เวลา : 10:44:31

10-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 10, 2025, 1:12 pm