ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (13 ม.ค.68) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (13 ม.ค.68) ที่ระดับ  34.66 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.59 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 34.52-34.79 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทดสอบโซนแนวต้าน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ จริง ตามที่เราได้ประเมินไว้ หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ตามรายงานข้อมูลการจ้างงานล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นกว่า 2.56 แสนตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานก็ลดลงเหลือ 4.1% ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเพียง 15% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ ลดลงจากที่ผู้เล่นในตลาดได้ให้โอกาสถึง 70% ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง จากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) สู่โซน 2,690-2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 4.75% (ตามที่เราประเมินเผื่อไว้เช่นกัน) ทำให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างปรับตัวลงหนัก อาทิ Nvidia -3.0%, Apple -2.4%

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากธีม US Exceptionalism หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ส่วน เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็อ่อนค่าลงหนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลอังกฤษ ทั้งนี้ แม้เงินบาทจะถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และแรงขายสินทรัพย์ไทย แต่เงินบาทยังพอได้แรงหนุนบ้าง ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนธันวาคม พร้อมทั้งจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 15% ในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ และผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ กลุ่มการเงิน (Citi, Wells Fargo, BofA, GS และ MS) และกลุ่ม AI/Semiconductor อย่าง TSMC
 
* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB รวมถึงรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจแบบรายเดือน (Monthly GDP) และยอดค้าปลีกของอังกฤษ  

* ฝั่งเอเชีย – ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของจีนในเดือนธันวาคม อาทิ ยอดค้าปลีก ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ยอดการลงทุนในสินทรัพย์ภาวร (Fixed Assets Investment) และยอดการส่งออก-นำเข้า โดยผู้เล่นในตลาดจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ในส่วนนโยบายการเงิน เราประเมินว่า ธนาคารกลางฝั่งเอเชียอาจเลือกที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 โดยธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.00% เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ที่อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3.00% แต่ก็มีโอกาสที่ BOK จะลดดอกเบี้ยเหลือ 2.75% เพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน ซึ่งอาจช่วยพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยได้บ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในเดือนธันวาคม สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปจนถึงโซนแนวต้านสำคัญ 35.00-35.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ตราบใดที่ เงินบาทไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวรับ 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน เพราะหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้จริง จะทำให้กลยุทธ์ Trend-Following สะท้อนว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ จะยังคงเพิ่มความเสี่ยงความผันผวนในลักษณะ Two-Way Volatility ซึ่งทิศทางเงินบาทจะขึ้นกับรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามทิศทางราคาทองคำ รวมถึงแนวโน้มเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษและจีนด้วยเช่นกัน ทว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอน โดยจะต้องจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสได้แรงหนุนจากธีม US Exceptionalism บ้าง ทว่าการแข็งค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดให้โอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เพียงราว 15% หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแข็งแกร่ง ทำให้เรามองว่า หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาแย่กว่าคาดบ้าง ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจพอได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ทว่า หากรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้ ซึ่งอาจลดทอนความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อรับมือความผันผวนในตลาดการเงิน

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.30-35.10 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.80 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 13 ม.ค. 2568 เวลา : 10:29:17

22-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 22, 2025, 3:49 pm