นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 ม.ค.68) ที่ระดับ 34.56 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) แข็งค่าขึ้นค่าอย่างรวดเร็ว (แกว่งตัวในกรอบ 34.52-34.74 บาทต่อดอลลาร์) หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ออกมาผสมผสาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ปรับตัวขึ้น +0.4%m/m (+2.9%y/y) ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน (Core CPI) กลับปรับตัวขึ้นราว +0.2%m/m (+3.2%y/y) น้อยกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย นอกจากนี้ ดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขานิวยอร์ก (NY Empire Manufacturing Index) เดือนมกราคม ก็ปรับตัวลดลงหนัก สู่ระดับ -12.6 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเพิ่มโอกาสเฟดทยอยลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เป็น 55% จากที่มองไว้เพียง 20% ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ซึ่งการปรับมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวลดลง ส่วนราคาทองคำ (XAUUSD) ก็สามารถปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้นแถว 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้อย่างชัดเจน หลังเงินดอลลาร์ทยอยรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามแรงซื้อ Buy on Dip เพิ่มสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่คงมุมมองว่า เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น จากผลกระทบของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย จากรายงานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ที่ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้นแรง เช่น Tesla +8.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ Citi +6.5% และ GS +6.0% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.83%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.33% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรป ก็ปรับตัวลดลงบ้าง ตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ฝั่งยุโรปต่างปรับตัวขึ้น อาทิ SAP +2.5% นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินยุโรปต่างปรับตัวขึ้นหนุนตลาดหุ้นยุโรปด้วยเช่นกัน หลังสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ต่างประกาศผลประกอบการที่สดใสและดีกว่าคาด
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.65% หลังผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เป็น 55% จากรายงานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่อาจปรับตัวสูงขึ้นได้อีกครั้ง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหนัก ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่มั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ ความกังวลต่อผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาล Trump 2.0 ก็สามารถกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน และแม้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง แต่เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยมีจังหวะปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว จากรายงานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นบ้าง สู่ระดับเดียวกันก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ หลังผู้เล่นในตลาดที่คงมุมมองเชิงบวกต่อเงินดอลลาร์ ต่างก็รอ Buy on Dip เพิ่มสถานะ Long USD ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวแถว 109 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 108.6-109.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถปรับตัวขึ้นสู่ 2,720-2,730 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและข่าวความคืบหน้าการเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซาก็มีส่วนชะลอการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนธันวาคมของสหรัฐฯ รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ทางฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจรายเดือน (Monthly GDP) รวมถึงยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนพฤศจิกายน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BOE มีโอกาสราว 24% ที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ล่าสุด ออกมาต่ำกว่าคาด นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของ ECB ด้วยเช่นกัน
และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ที่มีโอกาสลดดอกเบี้ยลง 25bps สู่ระดับ 2.75% เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ท่ามกลางความปั่นป่วนของการเมืองเกาหลีใต้และความเสี่ยงผลกระทบเชิงลบจากนโยบายการค้าของรัฐบาล Trump 2.0
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ทว่า เรามองว่า เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility และอาจกลับไปอ่อนค่า หรือ แข็งค่ามากขึ้น ตามการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักเป้นต้น ทั้งนี้ หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่ได้มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจน จนกว่าเงินบาท (USDTHB) จะสามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ทำให้เงินบาทยังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าลง หรือก็อาจเพียงแค่แกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน
แม้ว่ารายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ อาจไม่ได้ทำให้เงินบาทผันผวนได้มากเท่ากับรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เมื่อเทียบจากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ในช่วง 30 นาที หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว อย่างไรก็ดี จากสถิติดังกล่าว เงินบาท (USDTHB) สามารถแกว่งตัว +0.30% และ -0.15% ในช่วงหลังรับรู้รายงานข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ได้ ทำให้เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
โดยในกรณีที่ รายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ขยายตัวต่ำกว่าคาด (เรามองว่า โอกาสเกิดน้อย เพราะเป็นช่วงปลายปี ที่การใช้จ่ายน่าจะสูงจาก Holiday Season) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ได้บ้าง เป็น 60%-70% แต่ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่ได้ปรับตัวลดลงไปมากนัก เงินบาทก็อาจยังติดโซนแนวรับ 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้
แต่หากยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ขยายตัวดีกว่าคาดชัดเจน จะทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ต่ำกว่า 50% ได้ไม่ยาก หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในภาพดังกล่าว ราคาทองคำอาจย่อตัวลงบ้าง ส่วนเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.75 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
ข่าวเด่น