นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ม.ค.68) ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 34.52-34.66 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ขยายตัว +0.4%m/m น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ส่งสัญญาณว่า เฟดยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ หากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง จนทำให้เฟดมั่นใจในการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ ตาม Dot Plot ล่าสุด เป็น 68% นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ทะลุระดับ 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยนอกเหนือจากการปรับตัวลดลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ราคาทองคำก็ยังได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หลังทางการอิสราเอลยังคงโจมตีพื้นที่ในฉนวนกาซา หลังบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hamas ได้ไม่นาน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันจากแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะ Apple -4.0% ท่ามกลางความกังวลยอดขายในจีน นอกจากนี้ หุ้น Healthcare ขนาดใหญ่ อย่าง United Health ก็ดิ่งลง -6.0% จากรายงานผลประกอบการที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน หลังสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ต่างรายงานผลประกอบการที่สดใส ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.21%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.98% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ LVMH +9.2% หลังบริษัท Richemont +16.4% (เจ้าของแบรนด์ Cartier) รายงานผลประกอบการที่สดใส นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง ASML +4.6% หลังผู้ผลิตชิพรายใหญ่ อย่าง TSMC +3.9% รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาด
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.60% หลังผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เป็น 68% จากรายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดและถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่ส่งสัญญาณว่าเฟดยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ หากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง ตามการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 20 ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งระบุว่าเฟดยังมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม และรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงสู่โซน 109 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 108.8-109.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถปรับตัวขึ้นสู่ 2,740-2,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนธันวาคม รวมถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ของปีก่อนหน้า
ส่วนในฝั่งยุโรป ทางฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดค้าปลีกในเดือนธันวาคม เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเพิ่มโอกาส BOE ลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง หรือ 75bps ในปีนี้ เป็น 56% จากเดิมที่เคยมองว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ยอดการเริ่มต้นสร้างบ้าน (Housing Starts) รวมถึงยอดผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคม
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน โดยมีแนวรับสำคัญในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในช่วงนี้ เรายังคงเห็นผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ รวมถึงสกุลเงินต่างประเทศ เช่น เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ ตามแนวโน้มการแข็งค่าของเงินเยนญี่ปุ่น หลังผู้เล่นในตลาดมองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมกราคมนี้) ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าลงได้อย่างชัดเจน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่ได้มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจน จนกว่าเงินบาท (USDTHB) จะสามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับถัดไปแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้
อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน ในช่วงราว 9.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เพราะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ออกมาแย่กว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจกดดันให้เงินหยวนจีน (CNY) เสี่ยงอ่อนค่าลง กดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเงินบาทได้ นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่ยังคงสร้างความผันผวนและแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทอยู่ในช่วงนี้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น