นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 ม.ค.68) ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง”
จากระดับปิดวันที่ผ่านมา
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.92-34.06 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาเรียกร้องให้บรรดาธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในการกล่าวสุนทรพจน์ในงาน World Economic Forum ซึ่งแม้อาจจะไม่ได้มีการกล่าวถึงเฟดโดยตรง แต่ก็อาจสะท้อนว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงต้องการให้เฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย เหมือนที่เคยกดดันเฟดในช่วงรัฐบาล Trump 1.0 โดยสุนทรพจน์ดังกล่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เป็น 62% นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ตามจังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลุดโซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเพิ่มสถานะ Long USD ในจังหวะเงินดอลลาร์ย่อตัวลง เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อีกทั้งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันนี้ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาอ่อนค่าลงเหนือโซน 156 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้บรรดาธนาคารกลางเดินหน้าลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้ย้ำว่าสหรัฐฯ มีความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นอย่างมาก เพื่อรองรับการเติบโตของ AI ทำให้บรรดาหุ้นกลุ่มผู้ผลิตพลังงานต่างปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.53%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.44% หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความต้องการให้บรรดาธนาคารกลางเดินหน้าลดดอกเบี้ย ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรปก็ปรับตัวลงบ้าง ตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่งผลดีต่อบรรดาหุ้นสไตล์ Growth นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มการเงิน ท่ามกลางความหวังว่า ผลประกอบการของกลุ่มการเงินจะออกมาสดใส ทว่าการปรับตัวลงของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง ASML -4.4% หลังบรรดานักวิเคราะห์ทยอยปรับลดเป้าราคาของ ASML ลง ได้จำกัดการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แม้จะมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความต้องการให้บรรดาธนาคารกลางเดินหน้าลดดอกเบี้ย ทว่าบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้จำกัดการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวแถวระดับ 4.64% อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนสูง ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งต้องติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 20 อย่างใกล้ชิด ทำให้เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้ (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคาซื้อ เพื่อ Risk-Reward ที่น่าสนใจ)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Down หลังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้บรรดาธนาคารกลางลดดอกเบี้ย และรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้าง ตามแรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน และการปรับสถานะถือครองเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก่อนรับรู้ผลการประชุม BOJ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ย่อตัวลงสู่โซน 108.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.9-108.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ทยอยรีบาวด์ขึ้น สู่โซน 2,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ทว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดและบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่า BOJ มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมกราคมนี้ 25bps สู่ระดับ 0.50% (เรามองว่า BOJ อาจคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% แต่ส่งสัญญาณชัดเจน พร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า BOJ อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนมกราคม ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะเริ่มทยอยรับรู้จากข้อมูลฝั่งญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ
และนอกเหนือจากผลการประชุม BOJ รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างใกล้ชิด พร้อมรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์
ส่วนในช่วงระหว่างวันนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุม BOJ และถ้อยแถลงของผู้ว่าฯ BOJ โดยเงินบาทเสี่ยงผันผวนสูงขึ้น ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ
โดยเรามองว่า หากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด หรือ ขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) กลับมาอ่อนค่าลงทดสอบโซน 158 เยนต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง และในกรณี ดังกล่าว สัญญาณจากกลยุทธ์ Trend-Following จะสะท้อนว่า เงินเยนญี่ปุ่นเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้
ทว่า หาก BOJ ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด อีกทั้งยังส่งสัญญาณชัดเจน พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ก็อาจช่วยหนุนเงินเยนญี่ปุ่น ได้ ซึ่งต้องจับตาว่า เงินเยนญี่ปุ่นจะสามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 155 เยนต่อดอลลาร์ แถวเส้นค่าเฉลี่ย EMA-50 วัน ได้หรือไม่ เพราะการแข็งค่าดังกล่าว อาจเปิดโอกาสให้เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นต่อ ทดสอบโซนแนวรับ EMA-200 วัน หรือแถว 152-153 เยนต่อดอลลาร์
การเคลื่อนไหวผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่นดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) ซึ่งจะส่งผลต่อเงินบาทได้เช่นกัน
นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะในส่วนของดัชนี PMI ฝั่งสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 21.45 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากรายงานดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.15 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น