ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (27 ม.ค.68) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 33.69 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 ม.ค.68) ที่ระดับ  33.69 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  33.62 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.54-33.70 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) หลังรายงานดัชนี S&P Global PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม นั้นออกมาผสมผสาน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.1 จุด ดีกว่าคาด ทว่า ดัชนี PMI ภาคการบริการกลับปรับตัวลดลงสู่ระดับ 52.8 จุด แย่กว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเดือนมกราคม (U of Michigan Consumer Sentiment) ก็ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 71.1 จุด แย่กว่าคาดเช่นกัน อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทก็เริ่มชะลอลงบ้าง และเงินบาททยอยพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นบ้าง ส่วนราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่เราประเมินไว้ หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำและแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) โดยเราคาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25%-4.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ หลังจากที่เฟดได้ส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งเรามองว่า เฟดอาจรอจับตาการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่เชื่อว่าเฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ ตามที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด (เรายังคงมุมมองเดิมว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง หรือ 75bps) ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น อัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนธันวาคม รวมถึงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2024 นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ หุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง กลุ่ม The Magnificent 7 (Tesla, Meta, Microsoft แลt Apple)
 
* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า แนวโน้มการชะลอลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ท่ามกลางความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจ หากรัฐบาล Trump 2.0 เดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้า จะทำให้ ECB ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) 25bps สู่ระดับ 2.75% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง Press Conference อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ECB จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง อีก 3 ครั้ง หรือ 75bps สู่ระดับ 2.00% ในปีนี้ ส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ จะอยู่ที่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) อัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 รวมถึง อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectations) ที่สำรวจโดย ECB

* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Official Manufacturing & Services PMIs) เดือนมกราคม ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว ในเดือนมกราคม รวมถึง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนธันวาคม เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม แนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้า สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรือ อย่างน้อยแกว่งตัว Sideways ตราบใดที่ เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน ทว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง และเสี่ยงเผชิญความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility ซึ่งต้องจับตาผลการประชุมเฟดและECB รวมถึงการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจชะลอลงบ้าง ทำให้ เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ไปก่อน อย่างไรก็ดี เงินบาทเสี่ยงเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility ขึ้นกับผลการประชุมเฟดและ ECB รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ทั้งนี้ ในเชิงกลยุทธ์ Trend-Following เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น หรือ อย่างน้อยแกว่งตัว Sideways ตราบใดที่เงินบาท (USDTHB) ยังไม่สามารถอ่อนค่าเหนือโซน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์เสี่ยงผันผวนในลักษณะ Two-Way Volatility โดยเงินดอลลาร์อาจรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากเฟดส่งสัญญาณชัดเจนไม่รีบลดดอกเบี้ย ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ทว่า ต้องจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างใกล้ชิด โดยเงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้ ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ในกรณีที่ ECB ลดดอกเบี้ยตามคาด แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง หรือ ECB “เซอร์ไพรส์” ตลาดด้วยการคงดอกเบี้ย อนึ่ง เงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันต่อได้ หากผู้เล่นในตลาดยังคงลดความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ The Magnificent 7

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.20-34.05 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.75 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ม.ค. 2568 เวลา : 11:21:59

04-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 4, 2025, 4:46 am