ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (3 ก.พ.68) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 34.03 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (3 ก.พ.68) ที่ระดับ  34.03 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  33.67 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงหนัก (แกว่งตัวในกรอบ 33.54-34.17 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรกเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 2.6% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อยู่ที่ระดับ 2.8%) ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มากนัก ทว่าจุดเปลี่ยนของตลาดการเงินนั้นอยู่ที่การประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจหนุนให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงช้า หรือ ปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ย ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เหลือ 60% ส่วนการลดดอกเบี้ยในปีหน้านั้น ผู้เล่นในตลาดก็ปรับลดโอกาสการลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง หรือ 25bps เหลือ 78% จากเดิมที่เคยให้โอกาสสูงเกิน 90% ซึ่งการปรับเปลี่ยนมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นแรง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ท่ามกลางความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรปด้วยเช่นกัน 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นทำ All-Time High ของราคาทองคำ

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรเตรียมรับมือความผันผวนจากความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 พร้อมระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ และผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ซึ่งจะมีการปรับปรุงข้อมูล (Annual Revision) จนถึงช่วงเดือนมีนาคมปีก่อนหน้า ทำให้ยอดการจ้างงานฯ ในอดีตที่ผ่านมา จนถึงเดือนมีนาคม มีโอกาสปรับตัวลดลงเฉลี่ยเดือนละ 4-5 หมื่นราย และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) เดือนมกราคม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาว จากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ หุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Alphabet และ Amazon

* ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเรามองว่า BOE อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.75% ในการประชุมครั้งนี้ (ผู้เล่นในตลาดและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมิน BOE ลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.50%) หลังอัตราเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังอยู่ในระดับสูง ทว่า BOE อาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ย จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจได้ ซึ่งเราคาดว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 3.75% ในปีนี้ (ลดดอกเบี้ยในการประชุมรายไตรมาส) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนมกราคม และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนธันวาคมปีก่อนหน้า พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB

* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Caixin Manufacturing & Services PMIs) เดือนมกราคม ซึ่งจะสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบริษัทขนาดเล็ก-กลาง ได้ดีกว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของทางการจีนที่ได้รายงานในสัปดาห์ที่ผ่านมา  ซึ่งออกมาแย่กว่าคาดทั้งหมด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ในเดือนมกราคม ด้วยเช่นกัน พร้อมรอจับตาท่าทีของทางการจีน ว่าจะตอบโต้รัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไร หลังถูกขึ้นภาษีนำเข้า 10% ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 6.25% เพื่อช่วยหนุนภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอลงในระยะหลัง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็ได้ชะลอลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา 

* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ดัชนี PMI ภาคการผลิต รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนมกราคม โดยในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ CPI นั้น เราคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย +0.10% จากเดือนก่อนหน้า หรือราว +1.30%y/y ตามอานิสงส์ของการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารสด และฐานราคาสินค้าและบริการที่ต่ำในปีก่อน ทว่า ราคาพลังงานที่ปรับตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ก็มีส่วนกดดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following เรามองว่า เงินบาทเสี่ยงที่จะกลับมาทยอยอ่อนค่าลง หรือ อย่างน้อยแกว่งตัว Sideways หาก เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน ซึ่งภาพดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้สูง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นแรง ตามความกังวลผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุดของรัฐบาล Trump 2.0 ทั้งนี้ ต้องจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิดด้วย เนื่องจากหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ก็อาจพอช่วยหนุนเงินบาทได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเสี่ยงกลับมาอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหากอ่อนค่าทะลุโซน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ที่ในระยะหลังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทสูงกว่า 70% ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย มีแนวโน้มที่จะเห็นแรงขายหุ้นไทยเพิ่มเติม ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หนุนโดยภาวะปิดรับความเสี่ยง และความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทว่า เงินดอลลาร์ก็อาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงาน ออกมาแย่กว่าคาด

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.50-34.65 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.20 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.พ. 2568 เวลา : 08:54:48

04-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 4, 2025, 5:01 am