ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (7 ก.พ.68) ทรงตัว ที่ระดับ 33.77 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7 ก.พ.68) ที่ระดับ  33.77 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดเมื่อวาน 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.74-33.85 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง หลังเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยอ่อนค่าลง ตามการปรับลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.50% ของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่แม้จะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทว่า มีกรรมการ 2 ท่านที่สนับสนุนให้ BOE ปรับลดดอกเบี้ยลง 50bps ในการประชุมครั้งนี้ อีกทั้งผู้ว่าฯ BOE ยังได้ส่งสัญญาณว่า BOE มีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติมได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า การลดดอกเบี้ยของ BOE ในครั้งนี้ มีลักษณะ Dovish Cut อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้นได้ไม่นาน หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดเล็กน้อย ขณะเดียวกัน บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินยุโรปก็มีส่วนหนุนให้ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งเงินปอนด์อังกฤษก็สามารถทรงตัวเหนือระดับก่อนรับรู้ผลการประชุม BOE ได้ ซึ่งการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วนหนุนการรีบาวด์ขึ้นบ้างของทั้งราคาทองคำและเงินบาท 

แม้ว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่ารายงานผลประกอบการของบางบริษัทที่ออกมาแย่กว่าคาดก็มีส่วนกดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานวันศุกร์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกัน การปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ ก็มีส่วนกดดันบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Exxon Mobil -1.3% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.36%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นกว่า +1.17% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส โดยเฉพาะกลุ่มเหมืองแร่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปโดยรวมยังได้แรงหนุนจากความหวังว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจยุติลงได้ หลังมีแนวโน้มที่จะเกิดการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ภายในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แถวโซน 4.43% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งจะขึ้นกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่มีความน่าสนใจและคุ้มค่า

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Down แม้จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังตลาดรับรู้ผลการประชุม BOE ทว่าเงินดอลลาร์ก็ย่อตัวลงบ้าง ตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงการรีบาวด์ขึ้นของเงินยูโรและเงินปอนด์อังกฤษ ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของตลาดหุ้นยุโรป ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ส่งผลให้โดยรวมเงินดอลลาร์ย่อตัวลงสู่โซน 107.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.6-108.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) ยังคงสอดคล้องกับทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมราคาทองคำแกว่งตัวในลักษณะ Sideways แถวโซน 2,880-2,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีนี้ ที่ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 76% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ และมีโอกาสราว 74% ที่จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง 25bps ในปีหน้า

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า RBI อาจลดดอกเบี้ยลง 25bps สู่ระดับ 6.25% หลังภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ได้ทยอยชะลอตัวลงและมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายของ RBI  

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า (รอจับตาว่า ทางการสหรัฐฯ จะมีการเจรจากับทางการจีน จนอาจนำไปสู่การชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าได้หรือไม่) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways หากประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.10 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ 

โดยเรามีความกังวลว่า รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนมกราคม อาจออกมา เพิ่มขึ้น 1.8-2.2 แสนตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้แถว 1.7 แสนตำแหน่ง โดยคาดการณ์ของเราก็ใกล้เคียงกับมุมมองของทางทีมนักวิเคราะห์ Bloomberg Economics (ซึ่งเป็นทีมที่ประเมินยอดการจ้างงานได้แม่นยำที่สุดในการประเมินยอดการจ้างงานเดือนธันวาคม) ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดจะตอบรับต่อ ยอดการจ้างงานฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดไปมากได้ หากการประเมินของเราและทาง Bloomberg Economics นั้นถูกต้อง ซึ่งอาจเห็นเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ไม่ยาก 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า มีโอกาสที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากนัก เนื่องจากรายงานยอดการจ้างงานฯ ในครั้งนี้ จะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังจนถึงช่วงเดือนมีนาคมปี 2024 ซึ่งเรามองว่า มีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดยอดการจ้างงานฯ ในอดีตลง เฉลี่ยเดือนละ 6-8 หมื่นตำแหน่ง ทำให้ภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงเป็นแนวโน้มทยอยชะลอตัวลง (Gradual Cooling Labor Market) ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความกังวลต่อยอดการจ้างงานฯ ที่จะออกมาดีกว่าคาดไปมากได้ รวมถึงในกรณีที่ อัตราการว่างงาน (Unemployment) ปรับตัวขึ้นบ้างสู่ระดับ 4.2% ก็อาจช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้เช่นกัน 

ทั้งนี้ เราขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เนื่องจากสถิติย้อนหลัง 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า เงินบาท (USDTHB) อาจผันผวนกว่า +0.65%/-0.35% โดยเฉลี่ย ในช่วง  30 นาที หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ก.พ. 2568 เวลา : 10:38:35

04-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 4, 2025, 4:57 am