ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (10 ก.พ.68) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 33.89 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (10 ก.พ.68) ที่ระดับ  33.89 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  33.64 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการอ่อนค่าลงหนัก (แกว่งตัวในกรอบ 33.55-33.92 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นเพียง 1.43 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดคาดพอสมควร ขณะที่อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ลดลงสู่ระดับ 4.0% ดีกว่าคาดเล็กน้อย ส่วนอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) เพิ่มขึ้น +4.1%y/y สูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ บ้าง ทว่าในช่วงหลังจากนั้น อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น (1-year Inflation Expectations) ในรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ได้ออกมาสูงถึง 4.3% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งภาพดังกล่าว รวมถึงคำขู่ขึ้นภาษีนำเข้าในลักษณะ Reciprocal Tariffs ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และปรับลดโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เหลือเพียงราว 40%-50% จากเกือบ 70% ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันราคาทองคำและค่าเงินบาท รวมถึงบรรดาสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรปด้วยเช่นกัน 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทยังพอได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ไปได้บ้าง

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตาแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่เก็บภาษีนำเข้า “Reciprocal Tariffs” พร้อมจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ

 
 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนมกราคม โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้เล่นในตลาดรวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างกังวลกับผลกระทบของนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้า ในลักษณะ “Reciprocal Tariffs” กับบรรดาประเทศต่างๆ ที่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ พร้อมทั้ง รอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซี่งในสัปดาห์นี้ จะมีกำหนดการเข้าแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาผู้แทนฯ ของประธานเฟด นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ด้วยเช่นกัน 

* ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนและเศรษฐกิจอังกฤษ ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2024 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และ BOE โดยล่าสุด หลังจากที่ทั้ง ECB และ BOE ได้เดินหน้าลดดอกเบี้ยลง 25bps ในการประชุมต้นปีที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยอีก 4 ครั้ง หรือ 100bps (โอกาส 34%) ส่วน BOE ก็อาจลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง หรือ 75bps (โอกาส 67%)

* ฝั่งเอเชีย – ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 5.50% เพื่อช่วยหนุนภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอลงในระยะหลัง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็ได้ชะลอลงต่อเนื่องและอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2%-4% ในช่วงที่ผ่านมา 

* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พร้อมกับ รอลุ้นรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยได้ หากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาสดใส ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวลงมาพอสมควร จนในเชิง Valuation (หากประเมินจาก Forward P/E) ก็อยู่ในระดับที่ถูก Z-score ในรอบ 10 ปี น้อยกว่า -1 สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น การอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินบาทในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เพิ่มโอกาสเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงได้ โดยเฉพาะหาก เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เมื่อประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following ทั้งนี้ โอกาสที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่กว่าคาด เช่น อัตราเงินเฟ้อ CPI ต่ำกว่าคาด หรือเห็นแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน พร้อมทั้งควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด หลังราคาทองคำเริ่มเผชิญความเสี่ยงย่อตัวลงบ้าง

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเสี่ยงกลับมาอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหากอ่อนค่าทะลุโซน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งอาจขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย อาจพอได้ลุ้นเห็นแรงซื้อหุ้นไทยทยอยกลับมาบ้าง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือ รัฐบาลสหรัฐฯ เดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม ทว่า หาก อัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด หรือบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงเปิดรับความเสี่ยง ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้บ้าง

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.50-34.30 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์

LastUpdate 10/02/2568 10:49:45 โดย : Admin

04-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 4, 2025, 4:51 am