ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (20 ก.พ.68) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 ก.พ.68) ที่ระดับ  33.73 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  33.69 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.64-33.78 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่ยังพอได้แรงหนุนจากภาวะระมัดระวังตัวของบรรดาผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งความไม่แน่นอนของแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน หลังราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวในกรอบ Sideways ได้ โดยมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ซึ่งช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะ Microsoft +1.3% ได้ที่อานิสงส์จากการเปิดตัว ชิปควอนตัมคอมพิวเตอร์ (QPU) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.24% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงกว่า -0.91% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ขู่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประเภทรถยนต์ Semiconductor และยา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจต้องการทยอยขายทำกำไรหุ้นยุโรป โดยเฉพาะหุ้นเยอรมนีออกมาบ้าง ก่อนรับรู้ผลการเลือกตั้งเยอรมนีในช่วงสุดสัปดาห์นี้ 

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่า เฟดมีแนวโน้มชะลอการลดดอกเบี้ยและเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง 2 ครั้ง หรือ 50bps ตามที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ทว่า บรรยากาศระมัดระวังตัวของตลาดการเงินโดยรวม ได้ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้างสู่ระดับ 4.53% หลังจากปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 4.60% สะท้อนภาพว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ หรือ Buy on Dip 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แม้เงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนอยู่บ้างจากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน และแนวโน้มเฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ย ทว่าภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นสู่โซน 151 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัวแถว 107.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107-107.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) จะเผชิญแรงกดดันจากการทยอยขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดออกมาบ้าง แต่ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในช่วงนี้ ยังคงหนุนความต้องการถือทองคำอยู่ และช่วยหนุนให้ ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และรายงานภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ อาทิ ดัชนีภาคการผลิต และดัชนีภาวะภาคธุรกิจโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น ในเดือนมกราคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)  โดยล่าสุด บรรดาผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOJ มีโอกาสราว 48% ที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้
 
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ที่ทำให้การเคลื่อนไหวของสินทรัพย์หลัก ไม่ว่าจะเป็นเงินดอลลาร์ (รวมถึงบรรดาสกุลเงินหลัก) และราคาทองคำมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะทิศทางใด ทิศทางหนึ่งก็ตาม ซึ่งภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ เมื่อตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ หรือรับรู้ปัจจัยพิเศษ เช่น พัฒนาการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน แนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี (รอลุ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้) 

โดยเงินบาท (USDTHB) อาจยังมีโซนแนวต้านแถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 34.00 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวรับยังคงเห็นในช่วง 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับสำคัญถัดไป 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าทะลุโซนดังกล่าว ก็อาจแข็งค่าต่อได้ถึงโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์) 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.พ. 2568 เวลา : 10:58:33

23-02-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ February 23, 2025, 12:08 pm