ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (24 ก.พ.68) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 ก.พ.68) ที่ระดับ  33.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  33.61 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.52-33.64 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการจังหวะการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เป็นราว 80% จากรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย S&P Global ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.7 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาวะหดตัว) แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53 จุด พอสมควร อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดการเงินสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ลงบ้าง อีกทั้งบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็แข็งค่าขึ้นชัดเจน ตามความหวังว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเดินหน้าทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้เพิ่มเติมในปีนี้   

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์การเมืองเยอรมนี หลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนมกราคม และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 85% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ และมีโอกาสราว 86% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง หรือ 25bps ในปีหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้า รวมถึงรอจับตาแนวโน้มยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่อาจทยอยสูงขึ้นได้ หลัง Department of Government Efficiency (DOGE) ได้ทยอยปลดพนักงาน/ข้าราชการในหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ  

* ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (IFO Business Climate) ของเยอรมนี ซึ่งอาจช่วยสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเข้าใกล้การเลือกตั้งของเยอรมนีได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่สำรวจโดย ECB เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกราว 3 ครั้ง ในปีนี้    

* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว รวมถึง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 2.75% เพื่อช่วยหนุนภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอลงต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลปัญหาการเมือง ความเสี่ยงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงความเสี่ยงที่ความต้องการสินค้าประเภท Semiconductor อาจลดลง โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า BOK จะสามารถลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 75bps สู่ระดับ 2.00% ในปีนี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ตราบใดที่เงินวอนเกาหลี (KRW) ไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าลงหนัก ส่วนในช่วงสุดสัปดาห์ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน (Manufacturing & Services PMIs) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน  

* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) รวมถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งยังเป็นการรักษาขีดความสามารถ (Policy Space) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นชัดเจน (อาทิ ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0)  สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น เราคงมองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways และมีโอกาสที่จะทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่า จนทะลุโซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นได้มากนัก หากราคาทองคำ (XAUUSD) เริ่มเข้าสู่ช่วงการพักฐาน (Correction) ซึ่งหากประเมินในเชิงเทคนิคัล ราคาทองคำก็เสี่ยงที่จะย่อตัวลงบ้าง หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้นได้ ในกรณีที่ ราคาทองคำเข้าสู่แนวโน้มขาลง หากราคาทองคำปรับตัวลดลงจนหลุดโซน 2,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างชัดเจน เมื่อประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจชะลอลงบ้าง และโดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ (ที่เสี่ยงย่อตัวลง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways) ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย อาจยังมีความผันผวนอยู่พอสมควร และมีโอกาสเห็นแรงขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้เงินดอลลาร์จะอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ทว่าการอ่อนค่าก็อาจชะลอลงบ้าง โดยเงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนอยู่ หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หรือในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด นอกจากนี้ ควรติดตามพัฒนาการสถานการณ์การเมืองเยอรมนี หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งและแนวโน้มการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะกระทบต่อทิศทางบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) 

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-33.85 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ก.พ. 2568 เวลา : 10:07:13

25-02-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ February 25, 2025, 1:13 pm