ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (3 มี.ค.68) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.24 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (3 มี.ค.68) ที่ระดับ  34.24 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.17 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 34.10-34.31 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ในช่วงแรก ก่อนที่เงินบาทจะถูกกดดันเพิ่มเติมจนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น หลังเกิดเหตุวุ่นวายในการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับยูเครน นอกจากนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น) อีกทั้ง ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นบ้าง ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และทิศทางการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า ตามจังหวะการปรับฐานของราคาทองคำ อีกทั้งเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของการเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และ การเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน พร้อมรอลุ้นยอดการจ้างงานสหรัฐฯ และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงาน อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมทั้งติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 74% ที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง หรือ 75bps ในปีนี้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลังทยอยออกมาผสมผสาน กดดันธีม US Exceptionalism ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้า พร้อมทั้งรอติดตามพัฒนาการของการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังเกิดความวุ่นวายขึ้นในการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับยูเครน จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้ หนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR)

* ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราประเมินว่า แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ท่ามกลางความเสี่ยงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะทำให้ ECB เดินหน้าลดดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) เพิ่มเติมอีก 25bps สู่ระดับ 2.50% และมีโอกาสที่ ECB จะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยต่อได้จนถึงระดับ 2.00% หรืออาจต่ำกว่า หากจำเป็น ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซน ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกุมภาพันธ์ และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนมกราคม 

* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนกุมภาพันธ์ ส่วนในฝั่งเวียดนาม ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ เช่นกัน อย่าง ยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) ยอดค้าปลีก ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และอัตราเงินเฟ้อ CPI ในส่วนนโยบายการเงินนั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% หลัง BNM คงประเมินภาพรวมเศรษฐกิจที่ดี และยังมีความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออยู่บ้าง ทั้งนี้ ควรจับตามุมมองของ BNM ต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ 

* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอาจยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น หากประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following การอ่อนค่าของเงินบาททะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ชัดเจน ได้ทำให้เงินบาทกลับมาสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง ทำให้เรามองว่า เงินบาทเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงในลักษณะ Sideways Up โดยโมเมนตัมการอ่อนค่าอาจชะลอลงบ้าง หลังเงินบาทได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องพอสมควร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เงินบาทยังมีโซนแนวต้านสำคัญแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ อนึ่ง แนวโน้มเงินบาทจะขึ้นกับทิศทางราคาทองคำด้วยเช่นกัน โดยหากราคาทองคำยังอยู่ในช่วงของการปรับฐาน ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจนอีกครั้ง (เช่น กลับไปแข็งค่าแถวโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เงินบาทยังคงเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อได้ ทว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าอาจชะลอลงบ้าง โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ เงินหยวนจีน รวมถึงราคาทองคำ ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจมีแนวโน้มไหลออกจากตลาดทุนไทยเพิ่มเติม ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่า เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เช่น อ่อนค่าสู่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจยังคงได้แรงหนุน จากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของการเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทว่า เงินดอลลาร์อาจถูกกดดันได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.75-34.80 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.35 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 มี.ค. 2568 เวลา : 10:24:14

04-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 4, 2025, 5:08 am