ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (31 มี.ค.68) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.01 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (31 มี.ค.68) ที่ระดับ  34.01 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  33.99 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.89-34.04 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรก เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 57 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาด ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectations) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในรายงานเดียวกันนั้น ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 5.0% และ 4.1% ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (New All-Time High) หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจมีการประกาศมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ในเร็วนี้ ทั้งนี้ เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ จากความกังวลแนวโน้มนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ จากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา 

สัปดาห์ที่ผ่านมา การอ่อนค่าของเงินบาทยังเป็นไปอย่างจำกัด แม้จะเผชิญแรงกดดันจากความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แต่เงินบาทก็พอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ จากฝั่งสหรัฐฯ และจีน พร้อมจับตา การประกาศมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) รวมถึงยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด และที่สำคัญ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม การประกาศมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ซึ่งจะมีการทยอยประกาศมาตรการดังกล่าวในช่วงวันที่ 2 เมษายน เป็นต้นไป  

* ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของยูโรโซน ในเดือนมีนาคม พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดคาดว่า ECB มีโอกาส 40% ที่จะลดดอกเบี้ย ได้อีกราว 3 ครั้ง ในปีนี้ และมองว่า BOE อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย เพิ่มเติมราว 2 ครั้ง ในปีนี้ 

* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ของทางการจีน ที่จะเน้นบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ และดัชนี Caixin PMI ที่เน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น จากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนกุมภาพันธ์ พร้อมรอติดตามผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Tankan Survey) โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเฉพาะในส่วนของมุมมองภาคธุรกิจต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจกระทบต่อการตัดสินใจปรับนโยบายการเงินของ BOJ ได้

* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการแถลงร่วมภาคเศรษฐกิจจริงและระบบทางการเงิน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยเฉพาะในส่วนของมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยล่าสุด หลังเกิดเหตุ ทางสถาบันการเงินได้ทยอยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาทิ ลดค่างวดและลดดอกเบี้ย เป็นต้น ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) และอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนมีนาคม สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น เราประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลง ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ทั้ง ความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความกังวลผลกระทบจากแผ่นดินไหวต่อเศรษฐกิจ (ซึ่งเรามองว่า ไม่สูงนัก แต่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดในระยะสั้นได้) นอกจากนี้ เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะกลับเข้าสู่แนวโน้มการอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอลงได้บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways โดยเงินบาทยังมีโซนแนวต้านสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 33.30 บาทต่อดอลลาร์)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เงินบาทยังคงเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลง ท่ามกลางปัจจัยกดดัน โดยเฉพาะแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งอาจกระทบต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นได้ ทว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุน ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หรือแกว่งตัว Sideways

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง หากทางการสหรัฐฯ เดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้า ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศไว้ ทว่าเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันได้ หากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.70-34.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.10 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 31 มี.ค. 2568 เวลา : 11:07:50

02-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 2, 2025, 7:14 am