ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (4 เม.ย.68) ทรงตัว ที่ระดับ 34.24 บาทต่อดอลลาร์



 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 เม.ย.68) ที่ระดับ  34.24 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.02-34.34 บาทต่อดอลลาร์) โดยค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่เผชิญแรงกดดันจากความกังวลผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เสี่ยงเผชิญภาวะ “Stagflation” (เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่อัตราเงินเฟ้อสูง) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เดือนมีนาคม ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.8 แย่กว่าคาดพอสมควร ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับราว 1.9 ล้านราย แย่กว่าที่ตลาดคาดเช่นกัน อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมทยอยเข้าซื้อ หรือ “Buy on Dip” ทองคำ หลังราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวลงแรงในช่วงคืนที่ผ่านมา อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงบ้างของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดโอกาส BOJ เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในปีนี้ เหลือเพียง 63% นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่นก็เผชิญแรงกดดันบ้างจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long JPY หลังเงินเยนญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงวันที่ผ่านมา  

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงรุนแรง (Severe Risk-Off)  ท่ามกลางความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากมาตรการภาษีนำเข้าล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่รุนแรงกว่าคาด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างเทขายบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่อาจเผชิญผลกระทบหนัก เช่น Apple -9.3%, Amazon -9.0% ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงหนัก -5.97% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ดิ่งลงกว่า -4.84%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงกว่า -2.57% ท่ามกลางความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากนโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ โดยแรงเทขายหุ้นยุโรปนั้นได้ครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้ง กลุ่มการเงิน กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม รวมถึงกลุ่มเทคฯ อย่างไรก็ดี บรรดาหุ้น Defensive อย่าง กลุ่ม Utilities และสินค้าอุปโภคบริโภคบางส่วน กลับปรับตัวขึ้นได้ อาทิ Enel +2.7%, Unilever +3.0%

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนแถวโซน 4.03% ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และ ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากมาตรการกีดกันทางการค้าล่าสุดของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ซึ่งทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 79% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง ในปีนี้ ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เสี่ยงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ซึ่งต้องรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน อย่างใกล้ชิด และแม้ว่า เราจะมองว่า บอนด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจอยู่ แต่เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นปรับตัวลงเร็วและลึกเกินไป ทำให้เราขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นรอ Buy on Dip) ส่วนผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะลงทุนในบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ มาตั้งแต่ช่วงที่บอนด์ยีลด์อยู่ในระดับสูง เช่น เกินระดับ 4.50% ก็อาจพิจารณาทยอยขายทำกำไรได้ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อสู่ระดับ 4.00% หรือต่ำกว่า 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้าง กดดันโดยความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากนโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุดของรัฐบาล Trump 2.0 นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดก็ยิ่งกดดันเงินดอลลาร์เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นได้บ้าง หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย และทยอยขายทำกำไรสถานะ Long JPY ออกมาบ้าง ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงสู่โซน 102 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.3-102.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่าผู้เล่นในตลาดกลับเลือกที่จะเข้าถือบอนด์ระยะยาวและเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเลือกที่จะทยอยขายทองคำออกมา (หลังทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในปีนี้) กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) มีจังหวะปรับตัวลงแรง ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามแรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ที่คงมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นบ้าง สู่โซน 3,130-3,140 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ในเดือนมีนาคม พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางความกังวลผลกระทบของนโยบายการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ ที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญภาวะ Stagflation  

และในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยในเดือนมีนาคม มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลงของราคาพลังงาน  สู่ระดับ 1.02% (-0.02%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจทรงตัวที่ระดับ 0.9%-1.0%   

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะแข็งค่าขึ้น มากกว่ากรอบล่าง 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้พอสมควร (ซึ่งก็มาจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง) ทว่า จากปัจจัยเสี่ยงรอบด้านต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ ทำให้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ ตราบใดที่เงินบาท (USDTHB) ไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวรับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน 

ทั้งนี้ เรายอมรับว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี แรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย จากบรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจกดดันเงินบาทในช่วงนี้ได้ จนกว่า ผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกลับมามีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากเริ่มเห็นภาพการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น จนอาจนำไปสู่การปรับลดอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะเก็บต่อสินค้าไทย 

อนึ่ง เราคงมองว่า เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่ามากเกินไปในช่วงนี้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็กังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญภาวะ Stagflation ไปพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสสูงที่จะลดดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้ง ซึ่งมากกว่าที่เฟดประเมินไว้เพียง 2 ครั้ง ทำให้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน ส่วนบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็ออกมาย้ำจุดยืน ไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย หรือ ลดดอกเบี้ยได้เยอะอย่างที่ตลาดคาด ก็อาจหนุนให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์สูงขึ้น ได้ไม่ยาก ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันทั้งทองคำและเงินบาทได้ 
 
เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. โดยสถิติย้อนหลัง 1 ปี สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) อาจมีกรอบการแกว่งตัวระดับ +/- 1 SD ได้ราวถึง +0.57%/-0.32% หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 30 นาที 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.35 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 เม.ย. 2568 เวลา : 10:47:04

08-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 8, 2025, 2:28 am