(279)(241).jpg)
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 เม.ย.68) ที่ระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 33.24-33.46 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่า เงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบ Sideways ในช่วงวันศุกร์ เนื่องจากเป็นวันหยุดของตลาดการเงินฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ เนื่องในวันหยุด Good Friday ทว่า เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงเช้าวันจันทร์ หลังความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงกดดันความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง สอดคล้องกับการทยอยเพิ่มสถานะ Short USD (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาด นอกจากนี้ ราคาทองคำก็สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้จุดสูงสุดก่อนหน้า หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท (Correlation ระหว่างเงินบาทกับราคาทองคำในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังคงสูงถึง 82%)
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น สู่ระดับแข็งค่าสุดในรอบเกินครึ่งปี ตามการปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของราคาทองคำ และแรงซื้อบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงทยอยอ่อนค่าลง
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก พร้อมรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
* ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) เดือนเมษายน รวมถึงรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Tesla และ Alphabet ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ของยูโรโซนและอังกฤษ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) พร้อมทั้งรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และ BOE โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง ส่วน BOE มีโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 3-4 ครั้ง ในปีนี้
* ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของญี่ปุ่น ในเดือนเมษายน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยล่าสุด ความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดคาดว่า BOJ มีโอกาสราว 41% ที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในปีนี้ ในส่วนของนโยบายการเงิน เราคาดว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.75% เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) และรอประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง
* ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนมีนาคม เพื่อประเมินว่า ยอดการส่งออกของไทย เริ่มเผชิญผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด หลังในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ยอดการส่งออกเร่งตัวขึ้นและขยายตัวได้เกิน +10%y/y ตามการเร่งนำเข้าสินค้า จากความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน สำหรับ แนวโน้มเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ Sideways โดยในสัปดาห์ 21-25 เมษายน นั้น เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่อาจสูงราว 1 หมื่นล้านบาท (ประเมินจากบรรดาบริษัทจดทะเบียน) ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด (ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทราว 82% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา) หลังราคาทองคำเริ่มเผชิญแรงขายทำกำไรพอสมควร ซึ่งหากราคาทองคำย่อตัวลง เข้าสู่ช่วงการพักฐาน ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ ในเชิงเทคนิคัลนั้น เงินบาทจะกลับมายังอยู่ในแนวโน้มการอ่อนค่าได้อีกครั้ง หากสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following ทั้งนี้ แนวรับของเงินบาทยังอยู่ในช่วง 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวต้านจะอยู่แถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 33.85 บาทต่อดอลลาร์)
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลง โดยเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทว่า ยังคงต้องจับตาทิศทางเงินหยวนจีนและราคาทองคำ อย่างใกล้ชิด ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังมีความผันผวนอยู่ ซึ่งจะขึ้นกับบรรยากาศในตลาดการเงิน โดยต้องรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนไทยด้วยเช่นกัน
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจรีบาวด์ขึ้นบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่ออกมาสดใส อาจช่วยหนุนการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์ได้
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00-33.65 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.35 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น