ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (8 พ.ค.68) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (8 พ.ค.68) ที่ระดับ  32.87 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  32.70 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.66-32.93 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25-4.50% ตามคาด และประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง) เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันประธานเฟด Jerome Powell ก็ย้ำจุดยืน Wait and See ไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ย เพื่อรอประเมินแนวโน้มนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ ให้ชัดเจนก่อน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ท่ามกลางความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งทั้งภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและแนวโน้มเฟดไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง ก็มีส่วนกดดันให้ ราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง และเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังราคาทองคำก็สามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นใกล้ระดับก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ในช่วงเช้าของวันนี้ 

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังต่อแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากความหวังว่า ทางการสหรัฐฯ อาจผ่อนปรนมาตรการ ควบคุมการส่งออก Semiconductor ส่งผลให้บรรดาหุ้นในธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ Nvidia +3.1% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.43%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.54% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่ม Healthcare อาทิ Sanofi -4.3% จากความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายของ FDA สหรัฐฯ ทว่า รายงานผลประกอบการของ Novo Nordisk +1.3% ที่ออกมาดีกว่าคาด ก็พอช่วยหนุนหุ้นกลุ่มดังกล่าวและตลาดหุ้นยุโรปบ้าง นอกจากนี้ รายงานยอดค้าปลีกของยูโรโซนล่าสุดที่ พลิกกลับมาหดตัว -0.1%m/m ก็มีส่วนกดดันบรรดาหุ้นกลุ่มค้าปลีกของยุโรป 

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศของตลาดการเงินจะเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ บ้าง หลังในการประชุมเฟดล่าสุด เฟดได้ระบุว่า ความเสี่ยงของการเกิดภาวะ Stagflation ได้เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบันยังคงสดใสอยู่ และแม้ว่า ประธานเฟดจะย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่ผู้เล่นในตลาดต่างคงคาดหวังว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าวก็ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลงสู่ระดับ 4.27% 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หนุนโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และท่าทีของประธานเฟดที่ย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ย เพื่อรอประเมินแนวโน้มนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวสูงขึ้นสู่โซน 99.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.3-99.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทว่าราคาทองคำยังคงได้แรงหนุนจากการทยอยเข้าซื้อของผู้เล่นในตลาดที่ต่างรอจังหวะ Buy on Dip หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 3,391 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ใกล้เคียงระดับก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่จะทยอยรับรู้ในช่วงราว 18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเราประเมินว่า BOE อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยลง 25bps สู่ระดับ 4.25% ตามที่ตลาดและบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ประเมินไว้ ท่ามกลางความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจากผลกระทบของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจอังกฤษและอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาวะตลาดแรงงาน ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) 

และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) โดยเรามองว่า BNM อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% ก่อนได้ เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ให้ชัดเจนก่อน เหมือนกับการตัดสินใจของเฟดล่าสุด ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ช่วงราว 6.30 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม นี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) เพื่อประเมินถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยหากอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงสอดคล้องกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออยู่แถวระดับเป้าหมาย 2% ก็จะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความหวังว่า BOJ จะสามารถทยอยเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง หลังจากที่ทยอยอ่อนค่าในช่วงคืนที่ผ่านมา หากราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องได้ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาท อาจชะลอลงแถวโซนแนวรับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบ Sideways หรือแข็งค่าขึ้นได้บ้าง จากทั้งภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึง ธีมเฟดไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย (Higher for Longer) ที่อาจเริ่มกลับเข้ามา ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรและลดสถานะ Short USD (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง) ทว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็จะเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ทั้ง Soft & Hard Data) ที่ออกมาสดใสและดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ

อนึ่ง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและการตอบรับต่อการเปิดกอง Thai ESGX อาจช่วยหนุนเงินบาทบ้าง ผ่านแรงซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แรงซื้อบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลงบ้าง และมีโอกาสที่จะเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ รวมถึงสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ออกมาบ้าง

โดยรวมเราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways โดยโซนแนวต้านจะยังอยู่แถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับอาจขยับขึ้นมาบ้างสู่ระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.50 บาทต่อดอลลาร์)

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-33.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ค. 2568 เวลา : 11:21:25

09-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2025, 8:29 am