ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (23 พ.ค.68) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์



 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 พ.ค.68) ที่ระดับ  32.87 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  32.84 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.79-32.95 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ในช่วงบ่ายวันก่อนหน้า เงินบาทได้ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการรีบาวด์สูงขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำ รวมถึงการส่งสัญญาณจากทางรัฐมนตรีฯ พาณิชย์ ที่อยากให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่าง 36-37 บาทต่อดอลลาร์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทก็ดูจำกัดลงแถวโซนแนวต้านแรก 32.95-33.00 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันจากการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้อานิสงส์จากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) เดือนพฤษภาคม ที่ล้วนออกมาดีกว่าคาด สวนทางกับรายงานดัชนี PMI จากฝั่งยุโรปที่ออกมาผสมผสาน ทว่า ราคาทองคำก็ยังคงสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นได้และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ใกล้โซนแนวต้านดังกล่าว 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หลังสภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายภาษีและงบประมาณรายจ่าย ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังมีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ทว่ารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ก็พอช่วยพยุงบรรยากาศในตลาดการเงิน ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง -0.04%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลง -0.64% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -1.2% ตามแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรป ที่สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ จากความกังวลแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ นอกจากนี้ รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซน เดือนพฤษภาคม ก็ปรับตัวลดลงและแย่กว่าคาด กดดันบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นยุโรปเพิ่มเติม 

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่า สภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ จะสามารถผ่านร่าง “Fiscal Bill” ได้สำเร็จ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ทว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงบอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 30 ปี ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เล่นในตลาดได้บ้าง ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยย่อตัวลงบ้างจากโซนเหนือระดับ 4.60% สู่โซน 4.53% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังเสี่ยงผันผวนสูงได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดมีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ มากขึ้น ทว่า เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อสะสม (Buy on Dip) ได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงมีความกังวลต่อเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นสู่โซน 99.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.6-100.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) แม้จะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง หลังราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซนแนวต้านระยะสั้นได้สำเร็จ ทว่า จังหวะการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงซื้อในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาดก็พอช่วยหนุนให้ ราคาทองคำยังสามารถทรงตัวเหนือโซน 3,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ในเดือนเมษายน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ (โอกาส 60%)

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะติดตาม สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปก่อน ในช่วงโซน 32.55-33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยราคาทองคำยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง Two-Way risk ที่อาจทำให้เงินบาทสามารถเคลื่อนไหวแข็งค่า หรือ อ่อนค่าลงได้ ตามทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากราคาทองคำ ก็ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เช่นกัน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะสามารถทยอยกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจนอีกครั้ง ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following

ทั้งนี้ แม้ว่า เงินบาทดูจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง จากถ้อยแถลงของรัฐมนตรีฯ พาณิชย์ ที่มองว่า ระดับค่าเงินบาทที่เหมาะสมคือช่วง 36-37 บาทต่อดอลลาร์  แต่เราขอเน้นย้ำว่า ประเด็นของค่าเงินนั้นจะมีทั้งผู้มีส่วนได้และส่วนเสีย (หากเงินบาทอ่อนค่าเกินไป ก็จะกระทบฝั่งผู้นำเข้า ซึ่งปัจจุบันก็เผชิญแรงกดดันจากภาวะการแข่งขันสูงของสินค้าราคาถูกจากจีน) ทำให้เรามองว่า การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญที่สุด และไม่มีระดับค่าเงินที่เหมาะสมอย่างแท้จริง นอกเสียจากการประเมินในเชิง Valuation (อาทิ การประเมินด้วย BEER เป็นต้น) ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินก็ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับ Valuation ได้ในบางช่วงเวลา

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-33.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ค. 2568 เวลา : 11:25:45

24-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 24, 2025, 1:23 am