ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (3 ก.ค.68) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 32.35 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (3 ก.ค.68) ที่ระดับ  32.35 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  32.43 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down เข้าใกล้โซนแนวรับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.34-32.41 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่มาพร้อมกับการทยอยปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) เหนือโซนแนวต้าน 3,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ตามรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในเดือนมิถุนายน ที่ออกมาลดลง 3.3 หมื่นราย แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่า จะเพิ่มขึ้นเกือบ 1 แสนราย 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้จะถูกกดดันบ้างจากความกังวลแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ หลัง ADP รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่แย่กว่าคาดไปมาก ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Tesla +5.0% และ Nvidia +2.6% ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และรายงานข่าวการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.94% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.47%  

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.18% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม นำโดย LVMH +4.2% หลังนักวิเคราะห์เริ่มทยอยปรับคำแนะนำลงทุน ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอติดตามแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 4.26% โดยการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ถูกชะลอลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ อนึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงมาพอควร และอยู่ในโซนที่ยังไม่น่าสนใจทยอยเข้าซื้อ (อาจเริ่มน่าสนใจในการทยอยขายทำกำไรบ้าง หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อ สำหรับผู้ที่มีสถานะลงทุนในบอนด์ระยะยาว ตั้งแต่ในช่วง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สูงกว่าระดับ 4.50%) ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หรือ บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ เพื่อ Risk-Reward ที่น่าสนใจกว่า (โซน 4.50% หรือสูงกว่านั้น อาจไม่ได้เห็นได้ง่ายนัก หากไม่มีความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ เข้ามากดดันตลาดบอนด์ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องออกมาดีกว่าคาดชัดเจน)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง แม้ว่าจะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายบอนด์อังกฤษจากความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลอังกฤษ  ทว่า เงินดอลลาร์ยังคงถูกกดดันจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับเพิ่มความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด ตามรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ล่าสุด ที่ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 96.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 96.7-97.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) ทยอยปรับตัวสูงขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง สู่โซน 3,350-3,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมิถุนายน ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ต่อด้วย รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ในเดือนมิถุนายน เช่นกัน ที่จะรับรู้ในช่วง 21.00 น. นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด พร้อมติดตามแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ บรรดาประเทศคู่ค้า ว่าจะมีประเทศไหนบรรลุข้อตกลงการค้าเพิ่มเติมหรือไม่  

และส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการของจีน ในเดือนมิถุนายน ที่จะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มภาคการบริการของจีน ในส่วนของบริษัทขนาดเล็ก-กลาง 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงเผชิญความผันผวนในลักษณะ Two-Way Volatility แม้ว่าในช่วงระหว่างวัน เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ทว่า ราคาทองคำก็ดูจะไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อ ทะลุโซนแนวต้านได้ชัดเจน และมีโอกาสย่อตัวลงบ้าง ทำให้เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ในกรณีที่ ราคาทองคำย่อตัวลง (ทั้งนี้ เรามองว่า ราคาทองคำอาจไม่ได้ย่อตัวลงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้)

ส่วนในช่วง 19.30 น. เป็นต้นไปนั้น เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงิน ในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยจากข้อมูลสถิติย้อนหลังในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา เราพบว่า เงินบาท (USDTHB) อาจมีการแกว่งตัวในระดับ +/-1 SD ราว +0.5%/-0.3% ซึ่งจะเห็นได้ว่า เงินบาทมักจะมีแนวโน้มผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ได้มากกว่าแข็งค่าขึ้น ในช่วงหลังรับรู้ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ราว 30 นาที 

ทว่า ในการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ วันนี้ นั้น เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่แย่กว่าคาดไปมากแล้ว และต่างเพิ่มความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดไปพอสมควร ทำให้ เรามีความกังวลว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าได้มาก เช่น อาจถึงระดับ +2 SD หรือ เกือบ +1% หากรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาดีกว่าคาด หรือ ตามคาด (เพิ่มขึ้น +1.2 แสนราย) เนื่องจาก ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP หดตัวถึง 3.3 หมื่นราย แต่หากรายงานยอดการจ้างงานฯ ออกมาแย่กว่าคาด สอดคล้องกับ รายงานของ ADP ก่อนหน้า เรามองว่า เงินบาทก็มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น แต่ก็น่าจะไม่มากถึงระดับ -2 SD หรือการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวรับ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ในกรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ

เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์หน้าที่ ตลาดการเงินไทยอาจเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.15-32.60 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.ค. 2568 เวลา : 10:28:20

03-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 3, 2025, 4:05 pm