ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจ จากฐานข้อมูลบัญชีลูกหนี้นิติบุคคล อันเป็นฐานข้อมูลสถิติที่ไม่ระบุตัวตนของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) จำนวนบัญชีเฉลี่ย 1.7-1.8 ล้านบัญชีต่อไตรมาส ด้วยข้อมูลจนถึงไตรมาส 2/2567 พบ 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. คุณภาพของหนี้ธุรกิจไทยกลับมาถดถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 หลังหมดแรงส่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงินช่วงโควิด-19
2. ธุรกิจยิ่งเล็ก ปัญหาหนี้เสียยิ่งรุนแรง
3. สถาบันการเงินทุกประเภทต่างก็เผชิญผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น
4. เมื่อเจาะกลุ่มปัญหาเรื้อรังพบว่า ระดับความรุนแรงของปัญหาหนักกว่าพอร์ตสินเชื่อธุรกิจโดยรวม และปัญหาหนี้ของธุรกิจขนาดเล็กและกลางน่าห่วงมากขึ้น
5. ประเภทธุรกิจที่เผชิญปัญหาคุณภาพหนี้ คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่พักและอาหาร ค้าส่งค้าปลีก และภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนปมปัญหา ที่เกิดขึ้นจากโจทย์เฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอทุกภาคส่วนร่วมแก้ไข
1. คุณภาพของหนี้ธุรกิจไทยกลับมาถดถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 หลังหมดแรงส่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงินช่วงโควิด
ภาพรวมคุณภาพหนี้ของธุรกิจไทยตามฐานข้อมูลของ NCB1 นั้น พบว่า แม้หากเทียบหลังวิกฤตโควิด-19 จะเห็นทิศทางคุณภาพหนี้โดยรวมที่ดีขึ้น นั่นคือ สัดส่วนหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปมีสัดส่วนที่ลดลงจากจุดสูงสุดหลังโควิดที่ 7.18% ณ ไตรมาส 1/2563 เข้าหาระดับ 4.60-4.70% ในช่วงระหว่างปี 2566 ตามอานิสงส์ของมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ออกมาเพื่อเยียวยาในช่วง โควิด แต่สัดส่วนดังกล่าวก็พลิกกลับมาขยับขึ้นในช่วงต้นปี 2567 จนแตะระดับ 5.02% ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 เมื่อหมดแรงส่งของมาตรการ กอปรกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและไม่ทั่วถึง (รูปที่ 1)
2. ธุรกิจยิ่งเล็ก ปัญหาหนี้เสียยิ่งรุนแรง
เมื่อพิจารณาสัดส่วนเอ็นพีแอลจำแนกตามขนาดธุรกิจ2 พบว่า หนี้ที่เพิ่งมีวันค้างชำระ (1-30 วัน) และหนี้เอ็นพีแอล (ค้างชำระเกิน 90 วัน) เรียงตามสัดส่วนจากมากไปน้อย จะเป็นธุรกิจขนาด Super Micro, Micro, Small และ Medium ซึ่งการเรียงตามช่วงระยะเวลาที่ประเด็นคุณภาพหนี้เริ่มถดถอยลง ก็ไล่เรียงจากธุรกิจขนาดจิ๋วมาที่ขนาดเล็กและกลางเช่นเดียวกัน (รูปที่ 2) อันสะท้อนความอ่อนไหวของภาคธุรกิจต่อปัจจัยแวดล้อมที่มากขึ้นเมื่อธุรกิจมีขนาดที่เล็กลง
3. สถาบันการเงินทุกประเภทเผชิญผลกระทบชัดเจนขึ้น
เมื่อเจาะภาพหนี้ที่เพิ่งพ้นกำหนดชำระหนี้ไม่เกิน 30 วันสำหรับขนาดธุรกิจ Super Micro, Micro และ Small อันเป็นกลุ่มที่มีปัญหารุนแรงที่สุด เพื่อวัดสถานการณ์ปัญหาหนี้ที่เพิ่งเริ่มต้นเสียนั้น ชี้ว่า สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อ (ที่เป็นสมาชิกของ NCB) ต่างก็เผชิญปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพที่ปรับตัวสูงขึ้นถ้วนหน้า (ไม่จำกัดเพียงแค่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเท่านั้น) โดยเฉพาะบริษัทลิสซิ่งและสินเชื่อเช่าซื้อ ตามมาด้วยบริษัทบัตรเครดิตและสินเชื่อ Consumer Finance และบริษัทประกันที่มีสัดส่วนหนี้ค้างชำระ 1-30 วัน เพิ่มขึ้นแตะ 5.04%, 4.27% และ 3.44% ตามลำดับ (รูปที่ 3)
4. เจาะกลุ่มปัญหาเรื้อรัง พบปัญหาหนักกว่าพอร์ตรวม ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กและกลางน่าห่วงมากขึ้น
เพื่อให้สามารถประเมินสาเหตุและทิศทางสถานการณ์คุณภาพหนี้ของภาคธุรกิจได้แม่นยำมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้กรองบัญชีสินเชื่อธุรกิจที่มีข้อมูลย้อนหลังเป็นระยะเวลา 3 ปี (ขจัดกลุ่มธุรกิจที่เกิดใหม่และหายไประหว่างปีจากเหตุผลต่างๆ ออกไป) ซึ่งได้กลุ่มตัวอย่างประมาณ 6.5 แสนบัญชี เพื่อนำมาศึกษาปัญหาการชำระหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณล่าช้า ซึ่งขอเรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีสัญญาณของปัญหาหนี้ ‘เรื้อรัง’ นั้น พบว่า สัดส่วนหนี้ค้างชำระทุกระยะต่อสินเชื่อรวมของธุรกิจกลุ่มนี้ อยู่ที่ประมาณ 9.47% ในไตรมาส 2/2567 เพิ่มขึ้นชัดเจนจากระดับ 5.50% ณ ไตรมาส 2/2564 ตามหนี้ชั้นเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ (รูปที่ 4)
ทั้งนี้ สัดส่วนของหนี้ที่เริ่มมีวันค้างชำระดังกล่าว สูงกว่าของพอร์ตรวมของสินเชื่อธุรกิจซึ่งอยู่ที่ 5.02% อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตอกย้ำว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ/หรือการเยียวยาปัญหาหนี้ของภาครัฐและสถาบันการเงินระหว่างทางเท่าที่ควร นอกจากนี้ เมื่อจำแนกตามขนาดธุรกิจที่มีคุณสมบัติเป็นหนี้เรื้อรังนั้น พบธุรกิจขนาด Medium และ Small มีการถดถอยของคุณภาพหนี้ชัดขึ้น กว่ากรณีพอร์ตรวม (รูปที่ 5) ซึ่งชี้ว่า ปัญหาลามจากธุรกิจขนาดจิ๋ว มาที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางมากขึ้น
5. ประเภทธุรกิจที่มีปัญหากระจุกตัวอยู่ในธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ที่พักและอาหาร ค้าส่งค้าปลีก และภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้าง
เมื่อพิจารณาในมิติของประเภทธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มที่มีหนี้เรื้อรังแล้ว พบว่า หนี้ที่เพิ่งมีวันค้างชำระ 1-30 วัน จะอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง บริการที่พักและอาหาร ค้าส่งค้าปลีก และภาคการผลิต (เป็นธุรกิจหลักของเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนสินเชื่อรวมกันถึง 75.8%) อันสะท้อนปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอและการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จนกดดันยอดขายและคำสั่งซื้อของธุรกิจ มีผลซ้ำเติมความสามารถในการชำระหนี้ (รูปที่ 6) นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ธุรกิจบริการที่พักและอาหารเริ่มกลับมาแย่ลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง อันมีผลกับกลุ่มที่พักและร้านอาหารด้วยเช่นกัน
ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลให้หนี้เอ็นพีแอล (ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป) ของธุรกิจหลักข้างต้นมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันอำนาจซื้อ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การแข่งขันกับทุนต่างชาติ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สงครามการค้าที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานต่างๆ และเพิ่มกฎระเบียบทางการค้า ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบทำให้มีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศมาทุ่มตลาดในไทย (อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลังจากที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง) และทำให้ภาคการผลิตในหลายผลิตภัณฑ์ต้องปรับลดกำลังการผลิตลง ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นล้วนแล้วแต่กดดันรายได้และขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยให้เอาตัวรอดยากขึ้นในยุคที่โลกการค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
หากรากของปัญหายังไม่ถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ปี 2568 จะเป็นอีกปีที่จะเจอวังวนของปัญหาเดิม
ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเป็นมาตรวัดลักษณะ Lagging Indicator แต่ทิศทางที่ยังไม่ดีขึ้น ย้ำผลกระทบของปัญหาที่สั่งสมมาหลากหลายประเด็นข้างต้น ซึ่งขมวดกลับไปที่ต้นเหตุของปัญหาคือ สภาพเศรษฐกิจและปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องการการผลักดันและความต่อเนื่องของภาครัฐในการ ‘ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ’ เพื่อสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ๆ นอกเหนือจากการเสริมศักยภาพของตัวผู้ประกอบการ และมาตรการปรับโครงสร้างหนี้จากภาคการเงินเพื่อประคองปัญหาหนี้สินเฉพาะหน้า ดังที่ ธปท.และธนาคารพาณิชย์ได้ดำเนินการมาแล้ว และอาจสามารถดำเนินการเพิ่มเติมอีกในอนาคต เช่น การขยายเวลาการปรับโครงสร้างหนี้ให้ยาวขึ้นสำหรับกลุ่มที่มีปัญหา ควบคู่ไปกับมีมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินเพื่อให้ไปช่วยเหลือลูกหนี้ในกรอบระยะเวลาที่ยาวขึ้น
ตราบใดที่ต้นเหตุของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ปี 2568 จะเป็นอีกปีที่เราจะเผชิญกับปัญหาสินเชื่อใหม่ที่เติบโตต่ำท่ามกลางตลาดผู้กู้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ที่จำกัดลง และหนี้ด้อยคุณภาพที่ยังจะมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ให้บริการสินเชื่อมีภาระในการดูแลหนี้เสียที่ยังสูง กระทบต่อความสามารถในการทำกำไร (รูปที่ 7) ขณะที่ ผู้ประกอบการและครัวเรือนที่ประสบปัญหาเรื้อรังอาจต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งผลสำรวจของ สสว.ในไตรมาส 3/2567 ชี้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีพึ่งพาหนี้นอกระบบเพิ่มมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (รูปที่ 8)
ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำนวน 400 ตัวอย่าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 (รูปที่ 9) ชี้ถึงความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการทางออกที่ยั่งยืนจากภาครัฐ นั่นคือ อันดับแรก การสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวม เพื่อให้เกิดผลดีต่อรายได้ของธุรกิจ (28.5%) อันดับที่สอง การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสและความสะดวกในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (22.7%) ซึ่งสะท้อนความต้องการในการเพิ่ม Financial Literacy ของลูกค้าธุรกิจ อันดับที่สาม การช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อลดภาระหนี้/ปรับโครงสร้างหนี้ (22.0%) อันเป็นมาตรการประคองและต่อลมหายใจเฉพาะหน้า
ฝั่งความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อสถาบันการเงิน จะเน้นใน 3 เรื่อง คือ การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ยอดผ่อนต่อเดือนสอดคล้องกับรายได้ การปรับเงื่อนไขและขั้นตอนการขอสินเชื่อ ตลอดจน การกำหนดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงกับลูกค้าแต่ละราย ซึ่งในประเด็นหลังคือ Risk-Based Pricing ที่หากลูกค้ามีความเสี่ยงต่ำ ควรได้ดอกเบี้ยที่ต่ำลง แต่หากมีความเสี่ยงสูง ก็ควรถูกคิดอัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้น
ข่าวเด่น