จากชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอีกครั้ง ด้วยความสุดโต่งทางเสรีนิยมของทรัมป์ ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นที่ตั้ง การสานต่อนโยบายปกป้องเศรษฐกิจภายใน (Protectionism) โดยเฉพาะการสกัดอำนาจกับทางการจีน อย่างการเตรียมตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับทางจีนที่สูงถึง 60% จึงมีความเสี่ยงอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มเสียดุลทางการค้ากับจีน และต้องรับภาระหนักในตลาดส่งออกมากขึ้น ซึ่งอาจฉุดรั้งให้ GDP ไทยในปีหน้า อาจโตต่ำลงน้อยกว่า 3% ตามที่เคยประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้า
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลงในปี 2025 จาก 2.6% ลดลงมาอยู่ที่ 2.4% สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับคุณชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยช่วงปีหน้าจะเติบโตไม่ถึง 3% เนื่องมาจากมรสุมทางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน ที่มีความเสี่ยงเกิดสงครามทางการค้า หรือ Trade War ระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงกว่าเดิม หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกนโยบายเตรียมขึ้นภาษีนำเข้า ที่เน้นเก็บภาษีกับทางจีนด้วยอัตราสูงเป็นพิเศษถึง 60% อีกทั้งทรัมป์ยังแต่งตั้งสมาชิกคณะรัฐบาลชุดใหม่ ที่ในฝั่งของการบริหารกิจการระหว่างประเทศ ได้เสนอชื่อให้มาร์โก รูบิโอ สว.รัฐฟลอริดา เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และ ไมค์ วอลท์ซ สส.รัฐฟลอริดา เป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 2 คนนี้มีจุดยืนในการต่อต้านจีนอย่างแข็งกร้าวมาโดยตลอด
ด้วยความสุ่มเสี่ยงของความขัดแย้งดังกล่าวที่ฉาบหน้าด้วยสงครามทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการลงทุนและการค้าโลก เนื่องจากสงครามดังกล่าว มีแนวโน้มส่งผลกระทบทั้งทางด้านสถานการณ์เงินเฟ้อที่อาจพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง อันทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอาจหยุดลดอัตราดอกเบี้ย และยังกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของประเทศที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว ย่ำแย่ลงไปอีก
โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ได้ฉุดรั้งให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่สัมพันธ์กับการจ้างงานในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรมของประเทศ เกิดความอ่อนแออยู่แล้วเป็นทุนเดิม ฉะนั้นที่พึ่งของเศรษฐกิจไทย นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว จึงตกไปอยู่ที่ภาคการผลิตที่เน้นไปถึงการส่งออก โดยเฉพาะอาหารและผลผลิตทางการเกษตร (ที่ไทยเป็น 1 ในผู้ผลิตที่สำคัญของโลก) เนื่องจากถ้าสินค้าส่งออกเติบโต ก็จะทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ และทำให้เหล่า SMEs ที่อยู่ในสายการผลิตดังกล่าวมีการเติบโต
แต่เมื่อเกิดสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จีนจากที่เคยทำการค้ากับสหรัฐซึ่งเป็นตลาดใหญ่ (สินค้าอุปโภคบริโภคที่ประชาชนชาวอเมริกาใช้นั้นมีสัดส่วนเป็นสินค้านำเข้าที่สูงมาก ซึ่ง 90% ของสินค้าที่ใช้มาจากซัพพลายเออร์ รายใหญ่ของจีนทั้งหมด) ก็ต้องเบี่ยงทิศทางไปหาตลาดใหม่ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อกรณีสินค้าจีนทะลักเข้าประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจีนอย่างเขตการค้าเสรี ทำให้ไทยมีโอกาสขาดดุลทางการค้ากับทางจีนมากขึ้นไปอีก
และถึงแม้ตลาดสหรัฐ จะเกิดช่องว่างจากที่สินค้าจีนไม่สามารถเข้ามาได้ ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสให้การส่งออกไทยได้เติมเต็มช่องว่างดังกล่าว แต่ก็ต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่เห็นโอกาสเดียวกัน ทำให้เกิดสภาวะการแข่งขันสูง ซึ่งด้วยขีดความสามารถในการผลิตของไทยที่ลดลง ประกอบกับหมวดสินค้าที่โดดเด่นแค่ภาคการเกษตรเท่านั้น ไม่ได้มีการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจังเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ทำให้ภาคการส่งออกไทยอาจไม่ได้มีความน่าสนใจมากนักในตลาดโลก
ดังนั้นการหวังพึ่งการส่งออก ให้เป็นพระเอกในการหนุนนำเศรษฐกิจไทยในปีหน้า จึงเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ และเรียกได้ว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” หากเทียบกับผลกระทบของการเสียดุลทางการค้ากับทางจีน แลกมาด้วยดุลทางการค้ากับทางสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเพียงน้อยนิด ซึ่งอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในไทย (นอกจากสินค้าภาคการเกษตร) ก็ยังมีการเติบโตที่ต่ำอยู่และยังไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่คอยฉุดรั้งต่อไปยังอัตราการจ้างงานที่ลดลง และทำให้เศรษฐกิจไทยอาจยังทำ Performance ไม่ค่อยดีมากนักในปีหน้าที่จะถึงนี้
ข่าวเด่น