หุ้นทอง
บทบาทของตลาดทุนไทยในการร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ


 
 

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เป็นรากฐานสำคัญที่สนับสนุนความยั่งยืนของระบบนิเวศและเศรษฐกิจของโลก กิจการต่าง ๆ ล้วนพึ่งพาธรรมชาติในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทาน[1] อย่างไรก็ดี การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของทรัพยากรและความเสี่ยงต่อธุรกิจในระยะยาว โดยงานวิจัยของ Stockholm Resilience Centre[2] ระบุว่า การสูญเสียความสมบูรณ์ของชีวมณฑล[3] (Loss of Biosphere Integrity) ได้เกินขีดความสามารถในการรองรับของโลกแล้ว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือไม่สามารถหาทางแก้ไขให้กลับมาเป็นดังเดิมได้ อันจะสร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคต

เพื่อรับมือกับวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลายหน่วยงานทั่วโลกได้ดำเนินการสนับสนุนการอนุรักษ์และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM-GBF) ซึ่งจัดทำและรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) สมัยที่ 15 (COP 15) เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก หรือออกกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป และกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นต้น[4]

ประเทศไทยในฐานะภาคีของ CBD ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับประเทศ(National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAPs) มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน NBSAPs เป็นฉบับที่ 5 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดทำ ซึ่งแผนดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (เป้าหมายระดับชาติฯ) เพื่อคุ้มครอง อนุรักษ์ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยยังได้ลงนามใน NBSAP Accelerator Partnership[5] ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก เพื่อสนับสนุนการจัดทำและขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม NBSAPs ให้บรรลุตามเป้าประสงค์และเป้าหมายของ KM-GBF และวิสัยทัศน์ระดับโลกในการอยู่อย่างสอดคล้องและปรองดองกับธรรมชาติ (Living in harmony with nature) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ด้วย

สำหรับ NBSAPs ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างแผนเมื่อเดือนตุลาคม 2567 มีการกำหนดเป็นเป้าหมายระดับชาติฯ ที่จะต้องบรรลุภายใน พ.ศ. 2573 ได้แก่ (1) การมีพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ของประเทศทั้งบนบกและในทะเลอย่างน้อยร้อยละ 30 (2) ดัชนีสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List index) ไม่น้อยลงจากข้อมูลปีฐาน พ.ศ. 2568 (3) การมีมาตรการในการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานที่มีลำดับความสำคัญสูงอย่างน้อยร้อยละ 35 และ (4) สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 ที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30[6]

เป้าหมายที่ 4 นี้เป็นเป้าหมายที่ตลาดทุนจะมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครอง อนุรักษ์ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 สามารถเปิดเผยข้อมูลที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ หรือข้อมูลความเสี่ยง การพึ่งพา และผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงนโยบาย แผน กลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ การเปิดเผยดังกล่าวเป็นลักษณะสมัครใจ โดยสามารถอ้างอิงกรอบการรายงานตามแนวทางสากล เช่น The Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD) Framework[7] หรือ Global Reporting Initiative (GRI) 101: Biodiversity 2024 เป็นต้น เพื่อช่วยให้การรายงานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพมีมาตรฐาน โปร่งใส น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และมุ่งเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและเข้าใจถึงความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดกับภาคธุรกิจ โดยเตรียมจะเปิดการจัดอบรมสัมมนาให้แก่บุคลากรของบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่ระดับกรรมการและผู้บริหารที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและเป้าหมายของบริษัท ไปจนถึงระดับผู้ปฏิบัติ รวมทั้งเตรียมจัดทำคู่มือเพิ่มเติม เพื่อให้บริษัทมีความพร้อมในการดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจ และสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนกลุ่ม SET50 ในการบรรลุเป้าหมายระดับชาติฯ ข้างต้น นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างติดตามและศึกษามาตรฐานและแนวทางสากลที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทั้งในด้านการระดมทุนและการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเป็นเครื่องมือให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้ได้ในอนาคต

เป้าหมายระดับชาติที่ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 เป็นการดำเนินการในลักษณะของ “ความสมัครใจ” ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงสนับสนุนเป้าหมายระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญที่บริษัทจะได้แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริบทของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการพึ่งพา ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น บริษัทควรพิจารณาว่าความหลากหลายทางชีวภาพมีสาระสำคัญ (Materiality) ต่อบริบทการดำเนินงานของตนในระดับใด รวมถึงควรมีแนวทางการบริหารจัดการ ปกป้องคุ้มครอง อนุรักษ์ หรือฟื้นฟู ความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทการดำเนินธุรกิจ โดยการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้เป็นปลายทางสำคัญของกระบวนการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียสำหรับประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้าน

แม้ความหลากหลายทางชีวภาพอาจถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในมิติ E (Environment) ของกรอบ ESG แต่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับการมี G (Governance) ที่เข้มแข็ง บริษัทควรกำหนดนโยบายและกลไกในการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อม ๆ กับการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและโลกใบนี้
 
โดย ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ม.ค. 2568 เวลา : 16:07:24
24-01-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (23 ม.ค.68) ดัชนีอยู่ที่ 1,344.17 จุด ลบ 17.60 จุด

2. ประกาศ กปน.: 27 ม.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนประชาชื่น

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (23 ม.ค.68) ลบ 5.60 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,356.17 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 2,745 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,780 เหรียญ

5. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (23 ม.ค.68) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 33.91 บาทต่อดอลลาร์

6. ทั่วไทยอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย "ยอดดอย" หนาวถึงหนาวจัด 4 องศา มีน้ำค้างแข็งบางแห่ง "ยอดภู" 8 องศา

7. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.00 บาท/ดอลลาร์

8. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (22 ม.ค.68) บวก 11.70 เหรียญ นักลงทุนเดินหน้าซื้อทองคำสินทรัพย์ปลอดภัย

9. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (22 ม.ค.68) บวก 130.92 จุด รับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศโครงการลงทุน AI

10. ตลาดหุ้นไทยเปิด (23 ม.ค.68) ลบ 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.05 จุด

11. ข่าวดี!!! พรุ่งนี้น้ำมันลด "เบนซิน - แก๊สโซฮอล์" ลด 40 สต./ลิตร เว้น E85 ลด 50 สต.

12. ประกาศ กปน.: 28 ม.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบางนา-ตราด

13. ตลาดหุ้นปิด (22 ม.ค.68) บวก 9.24 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.77 จุด

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (22 ม.ค.68) บวก 7.15 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,359.68 จุด

15. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 2,720 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,770 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 24, 2025, 4:11 am